In Thailand

พ่อเมืองดอกลำดวนKick offปฏิบัติการ 239ศรีสะเกษขับขี่ปลอดภัยลดเจ็บ-ตาย



ศรีสะเกษ-พ่อเมืองดอกลำดวน  เปิดกิจกรรม Kick off ปฏิบัติการ 239 ศรีสะเกษ ขับขี่ปลอดภัย  เร่งรณรงค์สร้างวัฒนธรรมลดเจ็บ-ตาย

 เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ที่บริเวณหน้าสวนสาธารณกุดหวาย อนุสรณ์ 239 ปี จังหวัดศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมวัน Kick off ปฏิบัติการ 239 ศรีสะเกษ ลดเจ็บลดตาย ขับขี่ปลอดภัย 365 วัน โดยมี นายสำรวย เกษกุล นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต นายนพ พงศ์ผลาดิสัย รอง ผวจ.ศรีสะเกษ นายบุญประสงศ์ นวลสายย์ หัวหน้าสำนักงาน ปภ.จังหวัดศรีสะเกษ พ.ต.อ.เทพพิทักษ์ แสงกล้า รอง ผบก.ภ.จว.ศรีสะเกษ หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปร่วมกิจกรรม

นายวัฒนา กล่าวว่า จากสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย ได้สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของชาวไทยเป็นจำนวนมากในทุกๆปี ซึ่งในปี 2564  ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนสะสม ทั้งปี ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน รวมแล้ว 13,547 ราย บาดเจ็บ 881,757 ราย (ข้อมูลจาก บ.กลางฯ) และสำหรับจังหวัดศรีสะเกษ เสียชีวิต 237 ราย (ข้อมูล 3 ฐาน ศรีสะเกษ) สาเหตุพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิต 3 อันดับแรก คือ การขับรถเร็ว การไม่สวมหมวกนิรภัย และการขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด 

ซึ่งยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ จากความสูญเสียดังกล่าวจังหวัดศรีสะเกษ ได้กำหนดให้การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอด  365 วัน เป็นวาระจังหวัดศรีสะเกษ ในประเด็นวาระ “365 วัน ศรีสะเกษขับขี่ปลอดภัย” และได้กำหนดค่าเป้าหมายการเสียชีวิตต่อแสนประชากร ปี 2565  เสียชีวิตไม่เกิน 16 คนต่อแสนประชากร คือ เสียชีวิตไม่เกิน 234 ราย

ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนวาระจังหวัดศรีสะเกษในประเด็นวาระดังกล่าว เป็นไปตามค่าเป้าหมายที่กำหนด จึงกำหนดจัดกิจกรรม “ปฏิบัติการ 239 ศรีสะเกษ ลดเจ็บลดตาย ขับขี่ปลอดภัย 365 วัน”  เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ โดยการบูรณาการการดำเนินงานกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งจากคน ยานพาหนะ ถนน และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนให้ความสำคัญกับกลไกในระดับพื้นที่ โดยศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ศปถ.อำเภอ และศปถ.อปท.) และชุมชนหมู่บ้าน อาสาสมัครต่างๆ และประชาชน บูรณาการสร้างการมีส่วนร่วมในการดำเนินการและมีบทบาทสำคัญเป็นเจ้าภาพหลักสำคัญในการดำเนินการป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องตลอด 365 วัน.

บุญทัน  ธุศรีวรรณ ศรีสะเกษ / รายงาน