In Thailand
สถาบันวิจัยมรส.พัฒนาอาหารถิ่นสู่สากล เพิ่มมูลค่าศก.ชุมชนด้วยเทคโนฯฉายรังสี
สุราษฏร์ธานี-เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ณ ห้องวิทยพัฒน์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี พร้อมด้วย รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ ดร.นรา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีได้รับเลือกจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ เป็นสถานที่จัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่น ด้วยการฉายรังสีอาหาร ปี 2565 หวังสร้างความรู้ความเข้าใจการใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ ส่งเสริมอาหารฉายรังสี เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการ เข้าถึงการใช้ประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ
ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี กล่าวว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งในด้านอาหาร และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำอาหาร ซึ่งมีอาหารหลายชนิดที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวสุราษฎร์ธานี และควรค่าอย่างยิ่งในการอนุรักษ์ ส่งเสริม ต่อยอด สู่การสร้างอาชีพที่อาจเป็นได้ทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม ทั้งอาหารคาว อาหารหวาน และขนมท้องถิ่นที่มีศักยภาพเพียงพอในการยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่น และเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เช่น ต้มโคล้งปลาเม็งสำเร็จรูป แกงส้มกบบรรจุกระป๋อง น้ำพริกปูม้า กะปิแปรรูป เป็นต้น
รักษาราชการแทนอธิการบดี กล่าวต่อไปอีกว่า การส่งเสริมความรู้ให้ผู้ประกอบการมีแนวทางในการพัฒนาต่อยอด ด้วยการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีการฉายรังสีมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพื้นถิ่น เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ เพื่อฆ่าจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค เพิ่มอายุการเก็บรักษาชะลอการสุก ลดปริมาณปรสิต ทำลายและยับยั้งการแพร่พันธุ์ของแมลง ได้อย่างถูกต้อง ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และยังช่วยอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ก่อนที่จะสูญหายไป สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย ที่มุ่งนำองค์ความรู้และนวัตกรรมที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยถ่ายทอดสู่ชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงร่วมเปลี่ยนวิธีคิดแก่คนในชุมชนในการสร้างนวัตกรรมใหม่ โดยยึดจากวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น และให้ประชาชนนำไปต่อยอดในภาคการผลิตเพื่อการจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป