In Thailand

หนุนใช้เทคโนโลยีการเกษตรกำจัดตอซัง แทนการจุดไฟเผานาข้าว



ฉะเชิงเทรา-หนุนใช้เทคโนโลยีการเกษตร กำจัดวัชพืชและตอซังแทนการจุดไฟเผานาข้าวที่เมืองแปดริ้ว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรลงพื้นที่ขับเคลื่อนสร้างเครือข่าย เปลี่ยนจากเศษฟางข้าวเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ช่วยเกษตรกร เผยหลังการรณรงค์มานานกว่า 18 ปี ช่วยลดการเผาท้องทุ่ง ลดมลพิษลงได้อย่างต่อเนื่องมากถึงร้อยละ 50 ขณะชาวนาฉะเชิงเทราทวนกระแสหวนใช้วิธีการเผาเพิ่มมากขึ้น

วันที่ 15 ก.พ.65 เวลา 11.00 น. นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เดินทางมาเป็นประธานในการเปิดงานจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ชาวนาพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ลดการเผาตอซังในนาข้าวหลังจากเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรังในปี 2565 นี้ ยังในพื้นที่ ต.บางเตย อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งถือเป็นตำบลขนาดใหญ่มีเนื้อที่กว่า 18,094 ไร่ และประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก

โดยมีนายเชี่ยวชาญ เทพประดิษฐ์ ปลัดอาวุโส อ.เมืองฉะเชิงเทรา น.ส.วรนุช สีแดง ผอ.กลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จ.ระยอง นายดนัย ปัญจพิทยากุล เกษตรจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมด้วยกำนันผู้ใหญ่บ้าน นายกและสมาชิก อบต.บางเตย เดินทางมาร่วมในงาน โดยมีนายประเทือง ชัยสายัณห์ กำนันตำบลบางเตย นำกล่าวคำปฏิญาณที่จะร่วมกันรณรงค์ลดการเผาตอซัง และสร้างเครือข่ายช่วยกันดูแลเพื่อไม่ให้มีการเผาวัชพืชในนาข้าวอีก

โดยนางอัญชลี ได้กล่าวถึง การมารณรงค์ลดการเผาในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ในครั้งนี้ว่า เพื่อต้องการเปลี่ยนวิธีการกำจัดตอซังและวัชพืชของเกษตรกร หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตและการเตรียมดินในแปลงนา ด้วยการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรเข้ามาทดแทน เช่น การไถกลบตอซังในนาข้าว การอัดฟางก้อนเพื่อนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ การทำแซนวิชอาหารปลา การทำปุ๋ยหมัก และการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า 

เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรได้นำเศษซากพืช หรือตอซังไปสร้างอาชีพ เป็นรายได้เสริมกลับคืนมาสู่ครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง และยังเป็นการปรับปรุงบำรุงดิน ซึ่งการหยุดเผานั้นจะทำให้สภาพดินไม่เสื่อมโทรมด้วยการไถกลบตอซัง ทั้งยังเป็นการเพิ่มอินทรีย์วัตถุในดินด้วย ในวันนี้จึงเป็นการเข้ามาสร้างความรับรู้ให้แก่เกษตรกรได้เห็นถึงความสำคัญในเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้ 

และเป็นการเข้ามาสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา ให้ได้ 294 เครือข่ายตามเป้าหมายในพื้นที่ 60 จังหวัด และปลูกจิตสำนึกในชุมชน การให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อหยุดการเผา และนำเครื่องมือ เครื่องจักรทางการเกษตรมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเกษตรกร จากการรณรงค์ลดการเผาที่ผ่านมานับจากปี 2547 นั้นสามารถลดการเผาลงได้มากถึงกว่าร้อยละ 50 นางอัญชลี กล่าว

ขณะที่ น.ส.วรนุช ได้กล่าวถึงความจำเป็นในการเข้ามาจัดกิจกรรมรณรงค์ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อลดการเผาในครั้งนี้นั้น เนื่องจากถือเป็นพื้นที่ที่ยังมีการเผาตอซังในฤดูแล้งมากเป็นลำดับ 4 ของภาคตะวันออก ภายในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 รวม 9 จังหวัดรองลงมาจาก จ.นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน 

และมุ่งหวังลดมลพิษหมอกควันในอากาศ รวมถึงปัญหาดินเสื่อมโทรมขาดความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้มีโครงการส่งเสริมการสร้างและพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาขึ้นมา นับจากปี 2547 เป็นต้นมา ซึ่งล่าสุดในปี 2564 ที่ผ่านมานั้น จากการสำรวจด้วยดาวเทียม TERRA และ AQUA ด้วยระบบ MODIS ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.64 – 31 พ.ค.64 

โดยสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ยังพบจุดความร้อน (hotspot) ในประเทศไทยจำนวน 12,705 จุด จากในปี 2563 มีการสำรวจพบมากถึง 26,310 จุด โดยลดลงมาได้มากถึงร้อยละ 51.71 โดยจุดความร้อนที่พบอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมจำนวน 3,320 จุด จากเดิมในปี 2563 ที่มีการตรวจพบมากถึง 6,285 จุด หรือลดลงมากว่าร้อยละ 47.17 ของพื้นที่การเกษตรในภาคตะวันออก จำนวนรวมกว่า 10,506,992 ไร่ 

แบ่งเป็นพื้นที่นาข้าว 2,224,707 ไร่ ยางพารา 2,042,592 ไร่ ไม้ผล 1,172,571 ไร่ มันสำปะหลัง 898,990 ไร่ และเกษตรกรรมด้านอื่นๆ อีก 1,145,936 ไร่ ในภาพรวมของภูมิภาคพบจุดความร้อนจำนวน 1,471 จุดในปี 2563 และในปี 2564 พบจำนวน 1,057 จุด ขณะที่ใน จ.ฉะเชิงเทรา มีพื้นที่การเกษตรจำนวน 1,451,045 ไร่ เป็นนาข้าวจำนวน 597,148 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 41.15

มีการทำนามากที่สุดในพื้นที่ อ.บางน้ำเปรี้ยว และ อ.เมืองฉะเชิงเทรา และพบจุดความร้อนในช่วงเดือน ม.ค.64 และ ม.ค.65 รวม 75 จุด โดยที่ อ.เมืองฉะเชิงเทรา พบมีจุดความร้อนเพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2564 ที่เดิมมีเพียง 1 จุด ในเดือน ม.ค.65 เพิ่มขึ้นเป็น 6 จุด จึงได้เลือกที่จะเข้ามาจัดงานรณรงค์ลดการเผาในพื้นที่ อ.เมืองฉะเชิงเทรา ในวันนี้ น.ส.วรนุช กล่าว

 สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา