EDU Research & ESG

สาขาวัฒนธรรม-มรส.จับมือธุรกิจอาหาร ดันจาวมะพร้าวเป็นเบเกอรี่เกาะพะงัน



สุราษฏร์ธานี-สาขาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ร่วมกับ สาขาการจัดการธุรกิจอาหาร คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) บูรณาการศาสตร์ผลักดันจาวมะพร้าว วัตถุดิบเศษเหลือจากผลมะพร้าวแก่จัด แปรรูปเป็นขนมเบเกอรี่ ลดต้นทุนพร้อมสร้างรายได้ ชูเอกลักษณ์ความเป็นพืชถิ่น ส่งเสริมภูมิปัญญามะพร้าวเกาะพะงัน สร้างแหล่งเรียนรู้ดึงนักท่องเที่ยวร่วมสร้างจิตสำนึก สืบสาน สร้างสรรค์ และอนุรักษ์ ต่อยอดพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมบนเกาะพะงัน ภายใต้ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (อพ.สธ.) ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

โดยมี นายอรุณ หนูขาว ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งกองบริการวิชาการ พร้อมด้วย ดร.ศิริอร เพชรภิรมย์ หัวหน้าโครงการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาจุดเรียนรู้มะพร้าวเกาะพะงันเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม อาจารย์สันติชัย แย้มใหม่ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และได้รับเกียรติจาก อาจารย์วัชรี พืชผล และอาจารย์พงศ์พิพัฒน์ มากช่วย อาจารย์ประจำสาขาการจัดการธุรกิจอาหาร คณะวิทยาการจัดการ เป็นวิทยากร เมื่อวันที่ 17–18 กุมภาพันธ์ 2565  ณ อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

ดร.ศิริอร เพชรภิรมย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ หัวหน้าโครงการสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาจุดเรียนรู้มะพร้าวทางเกาะพะงันเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม กล่าวว่า คณะทำงานโครงการการจัดการทุนทางวัฒนธรรมมะพร้าวเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563–2564 และในปี พ.ศ. 2565 จัดให้มีกิจกรรมสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาจุดเรียนรู้มะพร้าวเกาะพะงันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โดยจัดประชุมสัมมนาพัฒนาเครือข่ายภูมิปัญญามะพร้าวเกาะพะงันเพื่อการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เเละการอบรมเชิงปฎิบัติการเเปรรูปอาหารจากมะพร้าว การพัฒนาจุดเรียนรู้มะพร้าว พร้อมผลักดันภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าวเกาะพะงัน ระหว่างการดำเนินงานมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึก ตลอดจนการนำองค์ความรู้ด้าน ต่าง ๆ มาบูรณาการพัฒนายกระดับผลิตภัณฑ์ที่มีมะพร้าวเป็นส่วนประกอบ ให้ชาวสวนมะพร้าวเกาะพะงันได้มีรายได้เพิ่มขึ้น ในอนาคตมีความคาดหวังว่าจะสามารถสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ  ภาคเอกชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเเละประชาชนได้ร่วมมือกันช่วยอนุรักษ์มะพร้าว ส่งเสริมภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าวเกาะพะงัน ต่อยอดสร้างเเหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับคนในชุมชนเเละนักท่องเที่ยวได้ในรูปเเบบของศูนย์การเรียนรู้เเละจุดเรียนรู้มะพร้าวเกาะพะงัน

ดร.ศิริอร กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับการจัดประชุมสัมมนาการพัฒนาเครือข่ายภูมิปัญญามะพร้าวเกาะพะงันมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ให้เกิดเครือข่ายการร่วมมือในการพัฒนามะพร้าวให้เป็นทุนทางวัฒนธรรม ต่อยอดสู่เป้าหมายในอนาคตคือการท่องเที่ยวชุมชน โดยได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ภาคเอกชน ภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการ โรงเรียนและประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมโดยเฉพาะสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมะพร้าวแปลงใหญ่เกาะพะงัน และได้กำหนดแผนการดำเนินงานร่วมกันในการพัฒนาและอนุรักษ์ มะพร้าวซึ่งถือว่าเป็นวิถีดั้งเดิมของชาวเกาะพะงัน หลังจากนี้จะได้เห็นความร่วมมือร่วมใจของชุมชนบนความจริงใจของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี  ที่ได้เข้าร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาอย่างเต็มความสามารถจนทำให้เกิดความเชื่อถือและไว้วางใจจากประชาชนในการร่วมมือขับเคลื่อนการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ว่าโครงการนี้จะเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์และพัฒนา “มะพร้าว คือ ชีวิต” ของชาวเกาะพะงันให้อยู่คู่กับลูกหลานและได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืนในอนาคตข้างหน้า 

ด้าน อาจารย์พงศ์พิพัฒน์ มากช่วย อาจารย์ประจำสาขาการจัดการธุรกิจอาหาร คณะวิทยาการจัดการ กล่าวว่า จาวมะพร้าว หรือ พวมมะพร้าว เป็นวัตถุดิบเศษเหลือจากผลมะพร้าวแก่จัด ที่คนรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้จัก ไม่เคยเห็น ไม่รู้รสชาติ จาวมะพร้าวอยู่ในลูกมะพร้าวแก่เกือบทุกลูก โดยส่วนหนึ่งเป็นอาหารให้แก่สัตว์ได้ แต่ก็ยังมีส่วนที่ถูกปล่อยให้เน่าเสียอีกไม่น้อย กลายเป็นวัสดุที่ไม่เกิดประโยชน์ ไม่มีราคา ดังนั้นหากสามารถพัฒนาแปรรูปวัสดุเศษเหลือให้สามารถขายได้ก็จะเกิดเป็นรายได้ภายใต้ต้นทุนที่ต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไป 

การอบรมเชิงปฎิบัติการเเปรรูปอาหารจากมะพร้าวได้แปรรูป “จาวมะพร้าว” ให้เป็นเมนูอาหารที่สามารถบริโภคได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสัญชาติ และทุกโอกาส โดยทีมอาจารย์สาขาวิชาธุรกิจอาหาร คณะวิทยาการจัดการ ได้พัฒนาและคิดค้นสูตรมาตรฐาน ผ่านเมนูมัฟฟิ่นจาวมะพร้าว ซึ่งเป็นขนมประเภทเบเกอรี่ มีกระบวนการทำที่ไม่ยุ่งยาก มีวัตถุดิบหลักเป็นจาวมะพร้าว ทานง่าย รสชาติอร่อย ที่สำคัญสามารถจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ นับเป็นการยกระดับวัสดุเศษเหลือ ที่สามารถชูเอกลักษณ์ของจาวมะพร้าวสู่สากลได้อย่างโดดเด่น นอกจากนี้ยังมีการถ่ายทอดทักษะการแปรรูปเมนูอาหารจากผลมะพร้าวที่มีอายุต่างกัน ได้แก่ ชิฟฟ่อนมะพร้าวอ่อน จากมะพร้าวอ่อนเกาะพะงัน มะพร้าวแก้วเกาะพะงัน จากเนื้อมะพร้าว 2 ชั้น คัดเกรดคุณภาพดี และมะพร้าวกรอบแก้วจากมะพร้าวทึนทึกเพื่อใช้เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ และสร้างรายได้ให้ประชาชนในชุมชนต่อไป