Authority & Harm
ตร.พัทลุงซ้อมแผนพื้นที่SAFETY ZONE กรณีเผชิญเหตุคนร้ายชิงทรัพย์ร้านทอง
พัทลุง-วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ตำรวจพัทลุง ซ้อมแผนเผชิญเหตุคนร้ายชิงทรัพย์ร้านทองในพื้นที่ SAFETY ZONE เพื่อจำลองการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อาสาสมัคร เครือข่ายภาคประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรมและคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์สินประชาชน
ที่จังหวัดพัทลุง พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ เกตุขาว ผกก.สภ.เมืองพัทลุง พ.ต.ท.นาถพล บุญสนิท รอง ผกก.ป.สภ.เมืองพัทลุง นำกำลังเจ้าหน้าที่ชุดสายตรวจร่วมกับอาสาสมัครเครือข่ายภาคประชาชน ซักซ้อมแผนเผชิญ กรณีคนร้ายชิงทรัพย์ร้านทองในพื้นที่ SAFETY ZONE ใจกลางเมืองพัทลุง การจำลองเหตุร้ายจำนวน 2 คน ใช้รถ จยย.เป็นยานพาหนะ พร้อมใช้อาวุธปืนจี้ชิงสร้อยคอทองคำ น้ำหนักรวม 10 ไป
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้การประสานงานผ่านระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผ่านศูนย์ปฏิบัติการ CCOC ตั้งห้องปฏิบัติการอยู่ชั้น 2 สภ.เมืองพัทลุง ซึ่งมีการเชื่อมโยงอุปกรณ์การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ผสมผสานการทำงานภาคพื้นดินทั้งการตั้งจุดตรวจจุดสกัด ทั้งการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ ปิดล้อมทุกเส้นทางป้องกันผู้ก่อเหตุออกนอกเขต SAFETY ZONE จนสามารถจับกุมคนร้านทั้งสองรายได้หลังเกิดเหตุภายในไม่เกิน 30 นาที
พ.ต.ท.นาถพล บุญสนิท รอง ผกก.ป.สภ.เมืองพัทลุง กล่าวว่า โครงการ “SMART SAFETY ZONE” เป็นนโยบาย ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยพลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย “SAFETY ZONE” ให้เกิดขึ้นในทุกจังหวัด ก่อนหน้าที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ใช้สถานีตำรวจทั่วประเทศจำนวน 15 แห่ง เพื่อดำเนินการในโครงการแรก ซึ่งได้รับผลการปฏิบัติงานตามโครงการในการป้องกันและสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงดำเนินการต่อในโครงการช่วงที่ 2 โดย สภ. เมืองพัทลุง เป็น 1 ใน 85 แห่งที่ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินการตามโครงการดังกล่าวโดยเบื้องต้น ทาง สภ.เมืองพัทลุง ได้คัดเลือกเอาพื้นที่ 3 ชุมชน ซึ่งเป็นย่านธุรกิจใจกลางเมืองพัทลุง ประกอบด้วย ชุมชนบ้านสวนหลวง ชุมชนเสกัก และชุมชนบ่อโพธิ์ ครอบคลุมพื้นที่ 0.4 ตารางกิโลเมตร รวมประชากร 2,235 คน เป็นจุดนำร่องโครงการ ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง
สำหรับโครงการดังกล่าว เน้นใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ในยุคดิจิตอล ควบคู่กับการบูรณาการ การทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ระบบราชการส่วนท้องถิ่น และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยกระดับการป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่สาธารณะ สร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยของประชาชน .....