Travel & Entertain

เกษตรกรปลูกหัวไชเท้าโอดแบกต้นทุนปุ๋ย ราคาดีแต่ปุ๋ยแพงวอนขอรัฐช่วยด่วน!



ราชบุรี-เกษตรกรปลูกหัวไชเท้าอ.บ้านคา หลังตรุษจีนพอยิ้มออกราคาเริ่มดี กก.ละ 12 บาท แต่เจอราคาปุ๋ย ราคายา พุ่งสูงแข่งกับผลผลิต วอนขอภาครัฐเข้ามาดูแล เผยถ้าปลูกน้อยไม่คุ้มทุน 

เมื่อ26 ก.พ. ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังหมู่บ้านหนองปล้อง หมู่ 5 ต.บ้านคา อ.บ้านคา จ.ราชบุรี เพื่อไปสำรวจการเพาะปลูกของเกษตรกร ที่เปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูกสับปะรด รวมกว่า 100 ไร่ มาปลูก “หัวไชเท้า” หรือหัวผักกาด จนมาเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ ให้กับชาวบ้านทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งหัวไชเท้าหรือหัวผักกาด เป็นพืชระยะสั้น ใช้ระยะเวลาเพาะปลูกเพียง 45 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตออกขายได้ และถ้าขายไม่หมดหรือผิวไม่สวย สามารถนำเข้าโรงงานแปรรูปได้อีก แต่จะได้ราคาที่ต่ำกว่าทุน

โดยขั้นตอนการเพาะปลูกหัวไชเท้า เริ่มตั้งแต่ไถดินให้ลึกประมาณ 30 ซม. ตากดินทิ้งไว้ 2 อาทิตย์ จากนั้นยกแปลงปลูกให้สูง 10-20 ซม. และทำแปลงปลูกขนาดความกว้าง 2 เมตร ทำหลุมปลูกระยะห่างกันหลุมละ 20 ซม. ระยะห่างแถว 20 ซม. หยอดเมล็ด 2 เมล็ดต่อหลุม และรดน้ำทุกวัน ช่วงแรกหมั่นพรวนดิน เพื่อให้ต้นอ่อนเจริญเติบโต เมื่อหัวไชเท้ามีอายุ 15 วัน ให้ทำการคัดเลือกต้นที่สมบูรณ์เพียงต้นเดียว และถอนต้นที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง เพื่อไม่ให้แย่งสารอาหาร 

หลังครบ 45 วัน เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขาย คัดหัวที่ใหญ่และสวยใส่แพ็คบรรจุในถุงละ 10 กิโลกรัม โดยมีราคาเฉลี่ย 100-300 บาท แล้วแต่ช่วงเวลา แต่ถ้าหัวไชเท้าที่มีขนาดเล็กไม่สวยจะนำส่งเข้าโรงงานแปรรูป โดยราคาเข้าโรงงานจะได้กิโลกรัมละ 2-3 บาท ภายในหนึ่งปีเกษตรกรจะสามารถปลูกหัวไชเท้าได้ 1-2 ครั้ง แล้วแต่จำนวนปริมาณน้ำและสภาพอากาศ เพราะหัวไชเท้าจะไม่สามารถปลูกได้ในช่วงที่สภาพอากาศร้อนจัด หรือมีฝนตกมากเกินไป โดยเกษตรกรส่วนใหญ่จะหันมาปลูกหัวไชเท้า เพื่อไม่ให้พื้นที่ว่างเปล่า ถือเป็นการสร้างรายได้หลักอีกทางหนึ่งเป็นอย่างดี 

เนื่องจากผลผลิตของหัวไชเท้า ที่ได้ในแต่ละปีถือเป็นการสร้างรายได้ ให้แก่คนในชุมชนเป็นอย่างมาก ชาวบ้านที่ไม่มีพื้นที่เพาะปลูกเป็นของตนเอง จะมารับจ้างถอนหญ้า ถอนหัวไชเท้า ตลอดถึงขั้นตอนการนำไปล้าง จนถึงขั้นตอนแพ็คถุงส่งจำหน่าย ให้แก่พ่อค้าคนกลางนำส่งตลาดศรีเมือง ตลาดไท และตลาดสี่มุมเมือง โดยจะได้ค่าจ้างเป็นชั่วโมงละ 30 บาท เฉลี่ยต่อวันประมาณ 300-400 บาทต่อคน ถือเป็นการสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

นางรุจิภา สืบติภา อายุ 38 ปี เกษตรกรผู้ปลูกหัวไชเท้า เปิดเผยว่า เธอปลูกหัวไชเท้ามา 10 กว่าปีแล้ว หลังจากรับช่วงต่อจากพ่อที่ปลูกสับปะรด ซึ่งมีราคาตกต่ำและใช้เวลาปลูกนานกว่ามาก ตนจึงคิดว่าปลูกหัวไชเท้าดีกว่า ระยะการปลูกสั้นให้ผลผลิตดี และถ้าเหลือยังสามารถเอาเข้าโรงงานแปรรูปได้ แต่ราคาจะต่ำกว่าทุน ซึ่งที่ผ่านมาเคยได้ราคาสูงสุดพุ่งถึงกิโลกรัมละ 30 บาท อยู่ที่ความต้องการของตลาด ซึ่งเธอปลูกกว่า 10 ไร่ ใช้ต้นทุนสูงพอสมควร 

หลังเทศกาลตรุษจีน ราคาปรับขึ้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 12 บาท ก็ยังถือว่าอยู่ได้ แต่เกษตรกร กลับมาเจอปัญหาและอุปสรรคเรื่อง สภาพคิดฟ้าอากาศ เพราะถ้าฝนตกลงมามาก หัวไชเท้าก็จะเน่า ได้รับความเสียหาย บวกกับราคาปุ๋ยและค่ายาที่พุ่งสูง จนบางครั้งทำให้ขาดทุน จึงอยากให้ภาครัฐ เข้ามาช่วยกำกับดูแลราคาปุ๋ยและราคายา ไม่ขยับสูงมากไปกว่านี้ 

อย่างไรก็ดี หัวไชเท้า ยังถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่สามารถขับเคลื่อนให้ชาวบ้านหนองปล้อง อ.บ้านคา มีการดำเนินชีวิตในแบบเกษตรกรวิถีพอเพียง จึงอยากให้ภาครัฐช่วยเหลือและอนุรักษ์เกษตรกรกลุ่มนี้เอาไว้

สุจินต์ นฤภัย (เต้) จ.ราชบุรี