In Thailand

ปชช.16ตำบลถือป้ายให้กำลังใจตัวแทน ถูกข้อกล่าวหาผิดพรก.หลังรวมตัวร้องทุกข์



ราชบุรี-จากกรณี เมื่อวันที่ 17 ส.ค.64 ที่ศาลากลางจ.ราชบุรี ได้มีกลุ่มชาวบ้านจาก ต.รางบัว หมู่ที่ 2, 4, 8, 10, 15 และ ต.จอมบึง หมู่ที่ 5 รวมกว่า 100 คน ได้รวมตัวกันทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมถือป้ายคัดค้านสร้างฟาร์มหมู และป้ายทวงถามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาฟาร์มหมูปล่อยน้ำเสียในแหล่งน้ำสาธารณะ จนมีชาวบ้านหลายหมูบ้านได้รับความเดือดร้อน โดยกลุ่มตัวแทนชาวบ้าน ได้ขอเข้าพบผวจ.ราชบุรี ในการยื่นหนังสือเรียกร้อง 2 เรื่อง คือ ให้หยุดยันการอนุญาติให้สร้างความฟาร์มใหม่ และแก้ปัญหาฟาร์มหมู่เก่าที่ลักลอบปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำและพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมี รองผวจ.ราชบุรี เป็นตัวแทน ผวจ.ราชบุรี พร้อมหัวหน้าส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้อง เข้ารับหนังสื่อเรียกร้อง เพื่อส่งมอบต่อให้ผวจ.ราชบุรี เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว 

ล่าสุดวันนี้ ( 2 มี.ค.) ที่ สภ.เมืองราชบุรี นายวิโรจน์ ช่างสาร ทนายความ ได้พา นายสมชาย หลวงละ ประธานเครือข่ายคนรักษ์น้ำ 16 ตำบล พร้อม น.ส.เตือนใจ มิอะ พร้อมกับพวกรวม 8 คน มาเข้าพบพนักงานสอบสวนสภ.เมืองราชบุรี เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา ในข้อกล่าวหา พรก.ฉุกเฉิน โดยมีชาวบ้านถือป้ายระบุข้อความว่า "ชาวบ้านเดือดร้อน หวังพึ่งพิงเจ้าหน้าที่รัฐช่วยแก้ปัญหา ทำไปทำมาเจ้าหน้าที่รัฐแจ้งความชาวบ้านเป็นผู้ต้องหา...", "รัฐบาลลุงตู่รับรู้ไว้ด้วยว่า ชาวบ้านราชบุรี ถูกนายทุนฟ้อง ถูกข้าราชฟ้อง หลายคดีแล้ว..", "พวกเราใช้สิทธิเรียกร้องตามสิทธิรัฐธรรมนูญ ปี 60" และ "ท่าน พลเอกอนุพงษ์ฯรัฐมนตรี มหาดไทย ช่วยตรวจสอบความโปร่งใส ของ...???.ข้าราชการจังหวัดราชบุรี ด้วยจร้า" เพื่อมาให้กำลังใจกับตัวแทนชาวบ้านทั้ง 8 คน ที่ถูกข้อกล่าวหา พรก.ฉุกเฉิน 

โดยพนักงานสอบสวนได้แจ้งต่อผู้ถูกกล่าวหาว่า ผู้ต้องหากับพวกรวม 8 คน ได้ร่วมกันนำกลุ่มชาวบ้านต.รางบัว อ.จอมบึง มายื่นหนังสือต่อผวจ.ราชบุรี  โดยมีการนำรถยนต์มารวมกลุ่มกันในบริเวณศาลากลางจ.ราชบุรี และมีการใช้รถยนต์กระบะติดเครื่องขยาย เสียง มีตู้ลำโพง มีการปราศรัย และประท้วงการก่อสร้างอาคารฟาร์มสุกรในพื้นที่หมู่ที่ 4 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ซึ่งในช่วงวันเวลาดังกล่าว มีพระราชกำหนดการบริหารราชการใน สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 32) และคำสั่งจ.ราชบุรี ที่ 2484/2514 เรื่อง มาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับที่ 25 ลงวันที่ 2 ส.ค.64 

โดยทางจังหวัดราชบุรีเป็นพื้นที่ควบคุมเข้มงวดสูงสุด ซึ่งห้ามชุมนุมเกิน 5 คน และ ตามวันเวลาดังกล่าว ผู้ต้องหากับพวกไม่ได้มาขออนุญาตจัดกิจกรรม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหาร ราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 32) และคำสั่งจ.ราชบุรี ที่ 2984/2514 หลังเกิดเหตุ ที่ว่าการอำเภอเมืองราชบุรี จึงมาแจ้งความร้องทุกข์มอบคดีกับ พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับผู้ต้องหาตามกฎหมาย ซึ่งการกระทำดังกล่าว เป็นความผิดฐาน “ร่วมกันชุมนุม หรือทำกิจกรรม หรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวยันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ซึ่งผู้ต้องหาในคดีนี้ทั้งหมด ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยมี นายวิโรจน์ ช่างสาร ทนายความเข้าร่วมกันการสอบสวนด้วย พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาโดยไม่ได้จับกุมหรือควบคุมตัว และนัดสอบปากคำในวันที่ 23 มี.ค.65

นายสมชาย หลวงละ ประธานเครือข่ายคนรักษ์น้ำ 16 ตำบล ได้ออกมาเปิดเผยหลังได้รับได้รับทราบข้อกล่าวหาแล้วว่า วันนี้ตนพร้อมพวกอีก 8 คน ได้เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหา วันนี้ตนกับพวก ได้มารับทราบข้อกล่าวหา และให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ซึ่งตนและชาวบ้านได้ทำหนังสือถึงผวจ. เพื่อทวงถามเรื่องการแก้ปัญหาการยับยั้งการสร้างฟาร์มหมู และการแก้ไขปัญหาฟาร์มหมูปล่อยน้ำเสียในแหล่งน้ำสาธารณะ ตามที่เคยมายืนหนังสือร้องเรียกกับหน่วยงานภาครัฐหลายครั้งแล้ว แต่กลับไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา พร้อมถูกหน่วยงานภาครัฐ แจ้งความดำเนินคดีในข้อกล่าวหา พรก.ฉุกเฉิน

ซึ่งพวกตนอยากสอบถามหน่วยงานภาครัฐว่า ตนและชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ไปชุมนุมประท้วงมั่วสุ่มอย่างไร ชาวบ้านเราไปตามสิทธิตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากหน่วยงานรับปากจะแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน แต่ในเมื่อไม่ได้รับการแก้ไขแล้วไปทวงถาม แต่กลับมาแจ้งความดำเนินคดีกับพวกตน ทั้งทีความเดือดร้อนทั้งหมดก็ไม่ได้รับการแก้ไข้ ชาวบ้านที่เดือดร้อนไม่มีสิทธิทวงถามหรือ หรือต้องทนแบกรับความเดือดร้อนต่อไป ไม่มีสิทธิพูดอะไรหรือสอบถามอะไร แล้วถ้าชาวบ้านไม่เดือดร้อนจริง เขาจะมาทวงถามสัญญาที่พวกท่านรับปากจพแก้ไขปัญหาให้หรือ ซึ่งรับจากนี้พวกตนจะปรึกษาทางทนายเพื่อดำเนินการต่อไป

ขณะที่ นายวิโรจน์ ช่างสาร ทนายความ กล่าวว่า ตนได้พาผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด มารับทราบข้อกล่าวหา โดยให้การปฏิเสธทั้งหมด ซึ่งหลังจากนี้จะให้ทางผู้ถูกกล่าวหา มาให้ปากคำเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 23 มี.ค.65 ซึ่งตนมองว่า ชาวบ้านไม่ได้มีเจตนาทำความผิดต่อ พรก.ฉุกเฉิน เนื่องจากได้ทำหนังสือไปทวงถามต่อหน่วยงาน ที่รับปากจะแก้ไขปัญหาให้กับทางชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านได้ใช้สิทธิตามกฎหมายตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่า ชาวบ้านมาใช้สิทธิทวงถาม ตามที่ชาวบ้านมาร้องทุกข์ไว้

สุจินต์ นฤภัย(เต้) จ.ราชบุรี