In Thailand
พังงาจัดพิธีมอบลายผ้าพระราชทาน 'ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา'
พังงา-จังหวัดพังงาจัดพิธีมอบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” โดยมีนายอำเภอทั้ง 8 อำเภอพร้อมกับผู้แทนจากอำเภอ และประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดพังงา เข้ารับมอบแบบลายผ้าเบื้องหน้าพระรูป
วันที่ 8 มี.ค.65 ที่หอประชุมจำปูน ศาลากลางจังหวัดพังงา นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา พร้อมด้วย นางวิภาดา ทิพญพงศ์ธาดา ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพังงา เป็นประธานในพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” เพื่อนำไปใช้เป็นต้นแบบในการทอผ้า ผลิตผ้า และผลิตภัณฑ์ ในแต่ละท้องถิ่น โดยประธานได้เปิดกรวยถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระรูป สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และกล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
ต่อมา นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ประธานในพิธีได้มอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” นางวิภาดา ทิพญพงศ์ธาดา ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพังงา มอบเอกสารอ้างอิงสำหรับผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” โดยมีนายอำเภอทั้ง 8 อำเภอพร้อมกับผู้แทนจากอำเภอ และประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดพังงา เข้ารับมอบแบบลายผ้าเบื้องหน้าพระรูป เพื่อนำไปมอบให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม นำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้า ตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ของจังหวัดพังงาต่อไป
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระราชทานลายผ้าบาติก 3 ลาย ประกอบด้วย ลาย"ปาเต๊ะร่วมใจเทิดไท้เจ้าหญิง" ลาย"ท้องทะเลไทย" และ ลาย"ป่าแดนใต้" ที่พระองค์ได้ แรงบันดาลพระทัยจากการเสด็จไปทอดพระเนตรงานศิลปหัตถกรรม จากภูมิปัญญาพื้นถิ่นในภาคใต้หลายครั้ง ทรงพบเห็นวิถีชีวิตและธรรมชาติของภาคใต้ ที่มีเอกลักษณ์แนวพระดำริทั้งหมดถูกถ่ายทอดลงบนผ้าลายบาติกพระราชทาน เพื่อพระราชทานให้กับช่างฝีมือบาติก เป็นของขวัญตอบแทนมิตรภาพ และความจริงใจ ที่ประชาชนซาวภาคใต้มอบให้กับพระองค์ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มคุณค่า และมูลค่าของผลิตภัณฑ์ ด้วยเรื่องราวและความหมายชวนประทับใจ
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ พื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทยให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป พระองค์ทรงได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานแก่ราษฎรอันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทย ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาค
โดยแต่ละลวดลายมีความหมายที่ลึกซึ้ง ได้แก่ “ลาย S ที่ท้องผ้า” หมายถึง สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาผ้าไทย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงออกแบบให้เว้นช่องว่างไว้ เพื่อให้ราษฎรได้ร่วมถักทอลวดลายของตนเองลงในช่องว่าง เป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากแต่ละท้องถิ่น ต่อมา “ลายบิดที่เป็นกรอบล้อมรอบตัว S” หมายถึง ความจงรักภักดีที่ปวงชนชาวไทยมีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ “ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ” หมายถึง ความรักของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย “ลาย S ประกอบกับลายขิดที่เชิงผ้า” หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงปรารถนาให้คนไทยอยู่ดีมีสุข “ลายต้นสนที่เชิงผ้า” หมายถึง พระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ของโครงการศิลปาชีพฯ ซึ่งลายต้นสนนี้ เป็นลวดลายพื้นถิ่นที่ถักทออยู่บนผืนผ้าของบ้านนาหว้า จังหวัดนครพนม ที่เป็นจุดกำเนิดโครงการศิลปาชีพฯ และ “ลายหางนกยูงที่เชิงผ้า” หมายถึง ความตั้งพระทัยมั่นของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน