Travel Sport & Soft Power
จัดพิธีลึกลับ!!'รำผีแก้ผิดผี'ของชาวมอญ ตะลึง!คนร่วมงานถูกสัมภเวสีเข้าสิงอีก
ราชบุรี - พิธีลึกลับ!!ของชาวมอญ ผิดผีต้องรำผีแก้ความผิด ตระลึง!!ขณะเพื่อนบ้านร่วมพิธีถูกสัมภเวสีเข้าสิง
วันที่ 9 มี.ค.65 ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังบ้านของชาวมอญ แถวบริเวณวัดบ้านหม้อ หมู่ที่ 6 ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี หลังทราบข่าวที่บ้านแห่งนี้ ได้จัดพิธีรำผีมอญ หรือประเพณีรำผีมอญ เพื่อเป็นการแก้กรรม หรือแก้การทำผิดผีของลูกหลาน ที่อาศัยอยู่ภายในบ้าน แม้ความผิดนั้นถูกกระทำขึ้นด้วยความไม่รู้หรือไม่ตั้งใจ เพื่อเป็นความสิริมงคลแก่ผู้เป็นญาติพี่น้อง โดยมีเพื่อนบ้านที่เป็นชาวมอญด้วยกันเข้าร่วมพิธี ซึ่งในพิธีได้มีการตรวจวัดอุณหภูมิ คัดกรองกับผู้ที่เข้าร่วมพิธี เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ของเชื้อโควิด-19 โดยมีผู้นำพิธีที่ชาวมอญเรียกกันว่า โต้ง เป็นผู้ทำพิธี โดยขณะที่มีชาวบ้านและเพื่อนบ้านเข้าร่วมพิธีดังกล่าว ผู้สื่อข่าวได้สังเกตุเห็นหลายคนเหมือนอาการเหมือนถูกผีเข้า โดยทุกคนจะมีอาการเต้นรำรุนแรงแบบไม่รู้ตัว พูดจาไม่รู้เรื่อง แถมกินของเซ่นไหว้ที่นำมาเข้าพิธี ทั้งที่ตนเองไม่ชอบและไม่เคยกิน จนผู้ที่เข้าร่วมพิธีต้องช่วยกันยึดบรรดาผู้ที่ถูกผีเข้า ก่อนจะล้มเกือบหมดสติจนร่างกระแทกกับพื้นลานพิธี พร้อมความมึนงงให้กับทางผู้สื่อข่าว ที่เฝ้าดูสังเกตุการณ์พิธีดังกล่าว
นางวิไล ประชากูล เจ้าของบ้านกล่าวว่า พิธีรำผีมอญ เป็นพิธีกรรมทางครอบครัวชาวมอญ สาเหตุที่ต้องจัดพิธีเนื่องจากการทำผิดผี เช่น การแสดงพฤติกรรมที่ไม่เคารพบรรพบุรุษ, การละเมิดข้อห้ามต่าง ๆ ของสังคม, การทำผิดผีของลูกหลาน และมีคนเข้ามาพักที่บ้านแล้วทำผิดผี ส่วนใหญ่จะทำผิดผีโดยไม่รู้ตัว จนทำให้เจ้าของบ้านเกิดเจ็บป่วย ซึ่งทั้งหมดถือว่าผีโกรธเจ้าของเรือน ต้องทำการแก้บนบานศาล โดยการเอาน้ำมารดที่เสาเอก และกล่าวอโหสิกรรมต่อผี รวมทั้งจัดพิธีเลี้ยงผีด้วย ส่วนวิธีการเลี้ยงผีมี 2 แบบ คือ การเลี้ยงผีแบบธรรมดา โดยการจัดเลี้ยงตามปกติ และเลี้ยงผีกินทั้งยืน หรือพิธีรำ โดยขณะที่ยืนรำจะหยิบอาหารกินไปด้วย ซึ่งที่ทำพิธีในวันนี้คือพิธีเลี้ยงผีกินทั้งยืน เป็นการแก้กรรมและขอขมาต่อผี
ส่วนการจัดพิธีนั้น จะต้องประชุมสมาชิกในเครือญาติเดียวกัน โดยผู้เป็น "โต้ง" หรือผู้ประกอบพิธีกรรม จะเป็นคนดูให้ว่า ทำพิธีได้หรือไม่ จะต้องทำพิธีแบบไหนและวันไหน ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดพิธีในเดือนคู่เท่านั้น จึงจะประสบความสำเร็จ จะไม่ทำพิธีในช่วงหน้านา และไม่ทำในวันพระหรือวันเสาร์ โดยเฉพาะวันเข้าพรรษาจะห้ามทำพิธีเด็ดขาด เพราะผีบรรพบุรุษจะต้องจำศีลภาวนาที่วัด พิธีกรรม โต้ง จะให้เจ้าของบ้านจัดทำโรงพิธี ซึ่งต้องปลูกตามฤกษ์ยามที่คนทรงกำหนด ประกอบด้วยเสา 6 หลัก เสาเอกอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และต้องใช้จากหรือแผก 36 ตับ และใช้ผ้าขาวขึงเพดาน ต้องเตรียมเขาวัวสำหรับใส่น้ำรดที่เสาผี และข้าวสารใส่หม้อดินสำหรับปักเทียน ด้านหน้าโรงพิธีต้องปักต้นหว้า 1 ต้น และต้องมีโอ่งน้ำสำหรับอาบน้ำให้ต้นผี
นางวิไล เปิดเผยอีกว่า การเตรียมของเซ่นไหว้ เพื่อใช้ในพิธีนั้นแล้ว แต่ว่าผีบรรพบุรุษเคยกินขนมประเภทไหน ถ้าเป็นขนมทอดจะต้องทอดในโรงพิธีเท่านั้น และเมื่อตั้งเตาแล้วห้ามเคลื่อนย้ายเตาเป็นอันขาด โดยก่อนวันทำพิธี 1วัน ต้องเตรียมอาหารสำหรับใช้ในพิธี เช่น ข้าวเหนียว, หัวหมู, ขนมต้ม, ข้าวขนมกล้วย, แป้งคลุกน้ำตาลทอด, กล้วยน้ำว้า มะพร้าวอ่อน และเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆให้เสร็จเรียบร้อย
ขณะที่ นางแมว ทัดรอด ชาวบ้านที่มาร่วมพิธีและถูกผีเข้ากล่าวว่า ตอนนั้นเธอมีอาการไม่รู้ตัว จนควบคุมตัวเองไม่ได้เลย รู้สึกปากชา และมือเท้าชา ส่วนใจเต้นเร็วเหมือนมีอะไรพุ่งเข้าใส่ร่าง จนถึงขั้นจำอะไรไม่ได้อีกเลย จนมารู้สึกตัวอีกทีตอนเธอล้มลงกับพื้นที่ จนรู้สึกเจ็บนิดๆ แต่เหนื่อยหอบมากกว่า ช่วงที่เธอจำได้เธอพยายามฝืนแล้ว แต่ยิ่งฝืนยิ่งเหมือนมีอะไรมากระแทกเธออย่างแรง ซึ่งเธอเคยได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า ผีสัมภเวสีจะเลือกเข้าตัวแทนที่มีจิตอ่อน ทำให้ควบคุมตัวเองไม่ได้ เพื่อจะได้เต้นรำและกินของเซ่นไหว้ แต่ผีบรรพบุรุษ จะเลือกเข้าคนที่จิตแข็ง เพื่อจะได้สื่อสารกับทางญาติได้ ในการบอกสารทุกข์สุกดิบ และบอกวิธีแก้กรรมขอขมาผี โดยครั้งนี้เธอมาร่วมพิธีเป็นครั้งแรกและถูกผีเข้า ทำให้เธอเชื่อในพิธีกรรมนี้เพิ่มมากขึ้น
สุจินต์ นฤภัย(เต้) จ.ราชบุรี