Travel & Entertain

เปิดโครงการอัพทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตร



ศรีสะเกษ-พ่อเมืองศรีสะเกษเปิดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตร เพิ่มมูลค่าทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565  ที่สวนโชคผดุงทรัพย์ 138 หมู่ 8 ต.พราน อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ  นายวัฒนา  พุฒิชาติ  ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานเปิดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพ "ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ" ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตรมูลค่าสูง  โดยมีอนุรัตน์  ธรรมประจำจิต  รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นำหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดศรีสะเกษ  นายพรชัย  วงศ์งาม  นายอำเภอขุนหาญ  และนายปริน  วิลา  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพราน  นำเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ในเขตอำเภอ3 อำเภอ ประกอบด้วย  อำเภอขุนหาญ  กันทรลักษ์และอำเภอศรีรัตนะ   พื้นที่ปลูกทุเรียนภูเขาไฟ จำนวน 14,828ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิต 5,596 ไร่ คาดการณ์มีผลผลิตประมาณ 8,200 ตัน มีกิจกรรมคือคณะทำงานการพัฒนาทุเรียนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตรวจเยี่ยมสร้างการรับรู้แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการพัฒนา และบริหารจัดการผลผลิตคุณภาพทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟ การมอบต้นพันธุ์ทุเรียนพันธุ์ใหม่ "ศรีสะเกษ 238"  การมอบใบอนุญาตการใช้ตราสิ่งบ่งขี้ทางภูมิศาสตร์ GI ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ   จัดกิจกรรม "ตัดลูก ตัดใจ ใส่ใจผู้บริโภค"  และการสาธิตการใช้เทคโนโลยีการเกษตร  ทั้งนี้เพื่อรณรงค์ให้เกษตรกร ดูแลจัดการทุเรียนให้มีคุณภาพ โดยการตัดลูกส่วนเกิน แต่เหลือลูกไว้อย่างเหมาะสมตามหลักวิชาการ  เพื่อเป็นการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคได้รับทราบและมั่นใจ ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษได้รับการดูแล เอาใจใส่ และเป็นทุเรียนเกรดพรีเมี่ยมอย่างแท้จริง

นายวัฒนา  พุฒิชาติ  ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาองค์กรนำพาพี่น้องประชาชนให้มีความอยู่ดีกินดี โดยบูรณาการทำงานทุกภาคส่วน กำหนดนโยบายและขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดผ่านวาระขับเคลื่อนจังหวัด เป็นการต่อยอดการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับเศรษฐกิจฐานราก ดังคำว่า "อะไร อะไร ก็ดี ที่ศรีสะเกษ" ผ่านวาระด้านเศรษฐกิจ  ซึ่ง 1 ใน10 คือวาระเกษตรบูรณาการ เป็นการสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับเกษตรกรในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ 4 ชนิด คือ ข้าว ทุเรียน หอมแดง และพริก"ทุเรียน" เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างชื่อเสียงและรายได้ให้จังหวัดศรีสะเกษ จำนวนมาก มีอัตลักษณ์เฉพาะและอร่อยกว่าทุเรียนจากแหล่งอื่น เนื้อนุ่ม รสชาติดี ไม่แฉะติดมือ พูสวย กลิ่นไม่แรง ในปี พ.ศ. 2565 พื้นที่ปลูกทุเรียนภูเขาไฟ จำนวน 14,828ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิต 5,596 ไร่ คาดการณ์ผลผลิตประมาณ 8,200 ตัน ปัญหาของเษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟสวนใหญ่ คือ แรงงานที่เป็นผู้สูงอายุ สภาพภูมิอากาศที่ไม่สามารถควบคุมได้ ประกอบกับจำนวนพื้นที่และปริมาณผลผลิตทุเรียนมีปริมาณมาก เกษตรกรไม่สามารถตรวจสอบหรือดูแลการเจริญเติบโตของผลทุเรียนอย่างครบถ้วน และส่งผลต่อคุณภาพและรสชาติทุเรียนได้  

ปัจจุบันเป็นยุคของเทคโนโลยีและเพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตทุเรียนได้อย่างมีคุณภาพ  ซึ่งในปี 2565 จังหวัดศรีสะเกษ ได้สนับสนุนและส่งเสริมการนำเทคโนโลยีผสมผสานกับองค์ความรู้ความรู้ภูมิปัญญาของเกษตรกร ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลกรรมที่ทันสมัย เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนากระบวนการผลิต สร้างความแตกต่างตลอดห่วงโซ่อุปทานให้แก่เกษตรกร รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มและแปรรูปผลผลิตให้ สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และความต้องการของตลาด เช่น การจัดทำระบบข้อมูล เพื่อให้ผู้บริหารใช้ในการบริหารจัดการผลผลิตให้ทันต่อสถานการณ์ การใช้โดรนพ่นเชื้อราไตรโคเดอร์มา การใช้รถแอร์บรัสพ่นหมอก การใช้รถตัดหญ้าเพื่อลดแรงงานประหยัดเวลา ช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้เกิดความแม่นยำ มีปริมาณเพียงพอและคุณภาพที่ดี การส่งเสริมการตลาดออนไลน์เชิงรุกที่สนองตอบต่อพฤติกรรมความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสมทันตามเทคโนโลยี และที่สำคัญจะทำให้เกษตรกรมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพิ่มมากขึ้น  

ข่าว/ภาพ ... บุญทัน  ธุศรีวรรณ   ศรีสะเกษ