In Thailand

สุราษฎร์ฯมอบแบบลายผ้าประจำจังหวัด 'ผ้ายกราชวัตรโคม'ให้19อำเภอสู่ชุมชน



สุราษฏร์ธานี-จังหวัดสุราษฎร์ธานีมอบต้นแบบลายผ้าประจำจังหวัด "ผ้ายกราชวัตรโคม"  ให้กับนายอำเภอ 19 อำเภอ และกลุ่มผู้ผลิตผู้ประกอบการประเภทผ้า  นำไปพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นถิ่น สร้างรายได้กระจายสู่ชุมชน

บ่ายวันนี้ (24 มี.ค.65)  ที่ศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี  นายวิชวุทย์  จินโต  ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี  พร้อมด้วยนางอุรสา  จินโต  ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ร่วมมอบต้นแบบลายผ้าประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี  "ผ้ายกราชวัตรโคม"  ให้กับนายอำเภอ 19 อำเภอ และกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการประเภทผ้าในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อนำไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอด  เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นถิ่น  สร้างรายได้กระจายสู่ชุมชน

ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม  ได้มอบหมายให้จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ค้นหาหรือออกแบบลายผ้าประจำจังหวัด จำนวน 1 ลาย  เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำหนังสือ "ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล"  เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  ทรงเจริญพระชนมพรรษา 90  พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2565   จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ได้ดำเนินการจัดประชุมคณะกรรมการพิจารณาค้นหาหรือออกแบบลายผ้าประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานีเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565  โดยที่ประชุมมีมติให้ผ้า  "ลายราชวัตรโคมหรือราชวัตรดอกใหญ่"  เป็นลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี   

และเพื่อให้ผ้าลายอัตลักษณ์ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี "ลายราชวัตรโคมหรือราชวัตรดอกใหญ่"  ได้เป็นมรดกภูมิปัญญาพื้นถิ่น เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น  สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี  จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี จัดทำต้นแบบ "ผ้ายกราชวัตรโคม" ขึ้น และได้กำหนดจัดพิธีมอบต้นแบบลายผ้าให้กับนายอำเภอ  และกลุ่มผู้ผลิตผู้ประกอบการประเภทผ้าในจังหวัดสุราษฎร์ธานี  เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์แบบ  "ผ้ายกลายราชวัตรโคม" ซึ่งเป็นลายผ้าอัตลักษณ์ประจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ให้กับกลุ่มทอผ้าในจังหวัด  ที่เป็นช่างทอผ้า กลุ่มทอผ้า และผู้ผลิตผ้า ทุกกลุ่ม  ทุกเทคนิค  ได้นำลายไปเป็นต้นแบบและพัฒนา ต่อยอด  เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นถิ่น  นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้  กระจายสู่ชุมชนอย่างทั่วถึง  เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาคต่อไป.