Travel Sport & Soft Power

กาฬสินธุ์โชว์มหกรรมผลผลิตการเกษตร สินค้าโครงการกาฬสินธุ์โมเดล



กาฬสินธุ์-จังหวัดกาฬสินธุ์ร่วมกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ สถาบันอาหาร ผู้ประกอบการด้านการเกษตร ผู้ประกอบการแปรรูป และห้างบิ๊กซี ซูปเปอร์เซ็นเตอร์ สาขากาฬสินธุ์ จัดมหกรรมแสดงผลผลิตทางการเกษตรและสินค้า ภายใต้โครงการกาฬสินธุ์โมเดล รองรับสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 

ที่บริเวณลานจอดรถ ห้างบิ๊กซี ซูปเปอร์เซ็นเตอร์ สาขากาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ มอบหมายนายปราชญา อุ่นเพชรวรากร รองผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดมหกรรมแสดงผลผลิตทางการเกษตรและสินค้า ภายใต้โครงการกาฬสินธุ์โมเดล โดยมี รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ นายอัครพงษ์ เขียวแจ่ม ผอ.ทรัพยากรธรรมชาติและวิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ บุคลากร นักวิจัย นักศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ รวมทั้งภาคเอกชน สถาบันอาหาร ผู้ประกอบการด้านการเกษตร ผู้ประกอบการแปรรูป  นำผลผลิตออกบูธจัดแสดงและร่วมงาน ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19

นายปราชญา อุ่นเพชรวรากร รองผวจ.กาฬสินธุ์กล่าวว่า มหกรรมผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าภายใต้โครงการกาฬสินธุ์โมเดล ดำเนินงานโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ร่วมกับสถาบันอาหาร และส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหาร และจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ประจำปีงบประมาณ 2564 ทำการวิจัยและพัฒนา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรฐานราก สร้างอาชีพเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และยกระดับรายได้เกษตรกร รองรับสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-19 โดยนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ไปสร้างอาชีพของเกษตรกรฐานรากให้มีเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ มีเป้าหมายให้กลุ่มเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 10,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 30 เปอร์เซ็นต์ต่อครัวเรือนต่อเดือน
ด้าน รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวว่ากิจกรรมโครงการกาฬสินธุ์โมเดล ได้ดำเนินการลงพื้นที่กลุ่มเกษตรกรฐานรากใน จ.กาฬสินธุ์ นำร่องในปีที่ 1 โดยมีเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ 200 ครัวเรือน ในพื้นที่ 5  อำเภอ 5 ตำบล ได้แก่ ต.นาจำปา อ.ดอนจาน, ต.สงเปลือย อ.นามน, ต.สำราญใต้ อ.สามชัย, ต.หนองแวง อ.สมเด็จ  และ ต.นาเชือก อ.ยางตลาด โดยชุดโครงการวิจัยกาฬสินธุ์โมเดล ได้ดำเนินการภายใต้โครงการย่อย 5 โครงการ  ได้แก่การเพิ่มรายได้เกษตรกรฐานรากกลุ่มผู้ผลิตพืชไร่อุตสาหกรรม, นวัตกรรมการผลิตไก่พื้นเมืองเพื่อสร้างอาชีพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรรายย่อย, นวัตกรรมเพื่อชุมชนเกษตรกรกลุ่มสัตว์น้ำสู่การพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน, นวัตกรรมเพื่อชุมชนเกษตรกรกลุ่มสิ่งทอสู่การพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน และนวัตกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน

ขณะที่ ผศ.ดร.กีรวิชญ์ เพชรจุล คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวว่า งานมหกรรมแสดงผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าภายใต้โครงการกาฬสินธุ์โมเดล จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 มีนาคม 2565 ในงานมีนิทรรศการจากโครงการกาฬสินธุ์โมเดล การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดภัยของโครงการ ผลิตภัณฑ์จากกลุ่มแม่บ้าน Young Smart Farmer, Smart Farmer แปลงใหญ่ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กิจกรรมร่วมสนุกและจำหน่ายสินค้านาทีทองนาทีถูก ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรมีโอกาสพบปะผู้บริโภค ได้เรียนรู้และเข้าใจหลักการตลาด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนผู้บริโภค ได้บริโภคสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และปลอดภัยในราคาที่เหมาะสม