Biz news

Mine SPA1รถยนต์EVคนไทยถูกพิษโควิด ปรับไลน์ผลิตเป็นรถสาธารณะแทน



ฉะเชิงเทรา-ตามหา Mine SPA1 รถยนต์ไฟฟ้าคนไทยที่เคยเปิดตัวภายในงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนลมอเตอร์โชว์ 2019 แล้วหายเงียบไปอย่างไร้วี่แววก่อนที่กงล้อจะแตะลงสู่พื้นถนน ด้าน CEO เจ้าของค่ายเผยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 ระบุยอมทิ้งยอดจองกว่า 3.5 พันคัน เหตุไม่ต้องการซ้ำเติมลูกค้าท่ามกลางวิกฤต โดยเฉพาะกลุ่ม “แท็กซี่” จากผู้ใช้บริการที่ลดลง ก่อนหันเปิดไลน์ผลิตรถยนต์สาธารณะป้อนสู่ภาคการขนส่งแทน

วันที่ 29 มี.ค.65 เวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าในการติดตามหารถยนต์ไฟฟ้า ที่เคยถูกนำออกมาเปิดตัวสู่สายตาประชาชนอย่างเป็นทางการ ภายในงานมหกรรมยานยนต์ “บางกอกอินเตอร์เนชั่นแนลมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 40” (2019) ที่มาพร้อมกับความภาคภูมิใจในธุรกิจและอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ที่ถูกออกแบบและพัฒนาโดยฝีมือคนไทยแบบ 100 % ภายใต้ชื่อ “Mine SPA1” จากบริษัทผู้ผลิต Mine Mobility ในเครือของกลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ “E@” ในครั้งนั้น

ได้สร้างความสนใจต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการใช้พลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิงที่ขยับราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่รถยนต์รุ่นดังกล่าวกลับหายเงียบไปอย่างไร้วี่แวว หลังจากที่ได้เคยมีการนำออกมาอวดโฉมได้เพียงไม่นาน ท่ามกลางการเฝ้ารอคอยของผู้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงและหันมาใช้พลังงานที่สะอาด จนมาถึงในปีนี้ภายในงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนลมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 43 (2022) 

ที่ถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกครั้ง ภายในชาเลนเจอร์ 1-3 อิมแพคเมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 23 มี.ค.65 -3 เม.ย.65 แต่ยังคงไม่มีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจากค่ายผู้ผลิตรายนี้ได้หวนกลับเข้ามาอวดโฉมบนฮอลล์อีกเลย สอบถามจาก “สมโภชน์ อาหุนัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทพลังานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ “EA” ซึ่งมีบริษัทในเครือ คือ “Mine Mobility” ที่เคยเดินหน้าในธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้า และเป็นผู้ผลิตรถยนต์ “อีวี” คันแรกรุ่นต้นแบบ “Mine SPA1” เปิดเผยว่า 

จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ที่ได้เข้ามาระบาดในเมืองไทยเมื่อช่วงต้นปี 2020 จึงทำให้ต้องมีการชะลอการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่เคยมีการเปิดตัวไปแล้วในครั้งนั้นออกไปก่อน เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าผู้ให้ความสนใจ และได้มีการสั่งจองไว้แล้วจำนวนกว่า 3,500 คันนั้น คือ กลุ่มของผู้ประกอบการรถแท็กซี่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการที่มีผู้โดยสารลดลง ทั้งยังต้องมีภาระในเรื่องของการผ่อนชำระค่างวดรถยนต์คันเดิมอยู่ 

หากเรานำรถไฟฟ้าเข้าไปในช่วงเวลานั้น จะเป็นการซ้ำเติมและสร้างภาระหนี้สินต่อผู้ให้บริการรถแท็กซี่ดังกล่าว เนื่องจากสถานการณ์ขณะนั้นผู้ใช้บริการรถแท็กซี่มีจำนวนน้อยลง แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะมีข้อดีในเรื่องของการลดต้นทุนในการนำออกไปขับรับส่งผู้โดยสารก็ตาม แต่จะทำให้ผู้ประกอบการเดิมถูกซ้ำเติมให้ได้รับความเดือดร้อน และยังเพิ่มภาระหนี้สินให้แก่ผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่เองด้วย จึงมองว่าอาจจะยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม และเอื้ออำนวยในการที่เราจะนำรถรุ่นนี้เข้าไปในขณะนั้น 

จึงเป็นที่มาของการชะลอการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก หรือ รถยนต์ EV “มายด์ สปาร์วัน” ออกไปก่อน โดยในขณะนี้ได้ไปมุ่งเน้นและให้ความสำคัญต่อการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์หรือรถยนต์โดยสารภาคการขนส่ง ที่ใช้พลังานไฟฟ้าขนาดใหญ่แทน เนื่องจากเรามองเห็นถึงศักยภาพและความได้เปรียบทางการค้าต่อทางผู้ผลิตรายอื่นๆ หรือคู่แข่งมากกว่า โดยที่เราสามารถที่จะผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ได้เองภายในประเทศ 

จึงทำให้เราไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่น จึงทำให้เรามีความเป็นต่อในเรื่องนี้ นอกจากนี้เรายังมีโหมดในเรื่องของการชาร์จประจุพลังงานไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วมากกว่าคู่แข่งด้วย หากจะนำมาเปรียบเทียบกันแล้ว รถยนต์ของเราสามารถที่จะประจุไฟฟ้าได้เต็มภายในระยะเวลาเพียง 20 นาที ส่วนของผู้ผลิตรายอื่นนั้นอาจจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงขึ้นไป จึงเป็นจุดเด่นทางการค้าในรถยนต์ที่ผลิตจากเรา

สำหรับความคืบหน้าของโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์แล้ว ในพื้นที่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา และได้มีการเริ่มไลน์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ออกมาสู่ตลาดบ้างแล้วจำนวน 120 คัน โดยเป็นรถยนต์ไฟฟ้าโดยสาร (รถบัส) ขนาด 11 เมตร ที่ได้มีการส่งมอบให้แก่ผู้ประกอบการรถร่วม ขสมก. รวม 10 สายในกรุงเทพฯ และกำลังจะส่งมอบรถยนต์บัสไฟฟ้าขนาด 8 เมตร จำนวน 87 คัน ให้แก่ผู้ให้บริการรถโดยสารระหว่างเมือง สาย กรุงเทพฯ-ชลบุรี และกรุงเทพฯ-ระยอง เป็นลำดับต่อไปอีกด้วย 

โดยขณะนี้โรงงานเรามีกำลังการผลิตประมาณ 9 พันคันต่อปี และจะเพิ่มกำลังการผลิตต่อไปอีกอย่างต่อเนื่อง โดยหลังจากราคาน้ำมันขยับตัวสูงขึ้นได้ทำให้ต้นทุนของภาคการขนส่งเพิ่มขึ้น จึงมีนัยสำคัญทางด้านความต้องการของตลาด อีกทั้งรถยนต์ไฟฟ้ายังเป็นรถที่ประหยัดพลังงานที่สามารถลดต้นทุนในภาคการขนส่งลงได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ขณะที่ทางรัฐบาลได้เริ่มให้ความสนใจ และให้การสนับสนุนทางด้านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น รวมถึงขณะนี้ผู้บริโภคยังได้หันมาสนใจรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นด้วย 

ขณะที่โรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ใน อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา นั้น ได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว และได้เริ่มดำเนินการผลิตมาตั้งแต่เมื่อช่วงปลายปี 2564 โดยมีกำลังการผลิตที่ 1 GWh และสามารถที่จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 4 GWh ได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากได้มีการออกแบบระบบโครงสร้างอาคารไว้รองรับการขยายตัวในด้านกำลังการผลิตสูงสุดที่ 4 GWh เอาไว้แล้ว ตามสถานการณ์และแนวโน้มความต้องการของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า

ส่วนปัญหาด้านแรงงานนั้น ยังคงมีปัญหาอยู่บ้างเนื่องจากยังเป็นอุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะโรงงานแบตเตอรี่ลิเธียมนั้น ถือได้ว่าเป็นแห่งแรกในอาเซียน จึงทำให้บุคคลากรยังมีความรู้ทางด้านนี้ไม่มากนัก จึงอาจทำให้มีปัญหาติดขัดอยู่บ้าง หากจะขยายกำลังการผลิต โดยอาจจะต้องนำเข้าวิศวกรมาจากต่างประเทศบางส่วน เพื่อที่จะเข้ามาเทรนนิ่งคนไทยให้มีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถให้ได้โดยเร็วที่สุด 

นอกจากนี้ยังมีการทำเอ็มโอยูร่วมกับสถานศึกษา ในความพยายามที่จะจัดหาบุคลากรหรือสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางขึ้นมา ขณะที่การสนับสนุนจากภาครัฐนั้น ทางโครงการพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้ให้การสนับสนุนเกี่ยวกับด้านสิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีอากร และสิทธิพิเศษในการนำเข้าบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจากต่างประเทศ ให้สามารถนำเข้ามาทำงานได้ง่ายขึ้น และเก็บภาษีเงินได้จากแรงงานต่างชาติลดลงด้วย 

ซึ่งจะทำให้เราสามารถจัดหาบุคลากรหรือแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังเป็นการทำให้แรงงานที่เราขาดแคลนเหล่านี้ สนใจที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นด้วย แต่ยังอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการ โดยขณะนี้เรามีการใช้แรงงานในโรงงานประกอบรถยนต์อยู่ประมาณ 400 คน และในโรงงานผลิตแบตเตอรี่อีกกว่า 300 คนรวม 700-800 คน 

โดยนโยบายหลักนั้นได้มุ่งเน้นการจ้างงานตามนโยบายส่งเสริมให้คนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ก่อน จากการที่เราได้เข้ามาลงทุนในพื้นที่ และก่อตั้งโรงงานตั้งแต่แรกเริ่มโครงการ ด้วยการเน้นจัดหาแรงงานในพื้นที่จากผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามที่เราต้องการก่อนเป็นลำดับแรก และหากมีความจำเป็นจึงจะเริ่มจัดหาแรงงานจากพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงจากต่างประเทศเข้ามาตามลำดับ นายสมโภชน์ กล่าว

สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา