EDU Research & ESG

มมส.ตกลงให้ใช้สิทธิทรัพย์สินทางปัญญา 'สบู่สมุนไพรต้านอนุมูลอิสระ-แบคทีเรีย'



มหาสารคาม- หน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดพิธีลงนามการอนุญาตให้ใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา “สบู่สมุนไพรต้านอนุมูลอิสระและต้านแบคทีเรีย” เพื่อการผลิตและจำหน่าย โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นประธานกล่าวต้อนรับ พร้อมลงนามร่วมกับ นายพิพัฒน์ หรดาล กรรมการบริหาร บริษัท นอร์ด เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด และมี รองศาสตราจารย์ ดร.เกียรติศักดิ์ ศรีประทีป ผู้จัดการศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม ศาสตราจารย์ ดร.อนงค์ฤทธิ์ แข็งแรง รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วิจัย และนวัตกรรม เป็นพยานการลงนาม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4อาคารบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักฤดี สารธิมา นักวิจัยสังกัดคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้นำเสนอผลงานวิจัย “สบู่สมุนไพรต้านอนุมูลอิสระและต้านแบคทีเรีย” โดยได้ทำการวิจัยร่วมกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรัณยู คำเมือง ค้นพบว่า มะม่วงนอกจากจะมีสรรพคุณทางยา ยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่ดี มีศักยภาพสูงที่จะนำมาเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแลสุขภาพผิว เช่น สบู่ ซึ่งสบู่สมุนไพรในท้องตลาดนั้นมีอยู่หลากหลายชนิด บางชนิดผสมสมุนไพรเพียงชนิดเดียว เช่น สบู่มะขาม สบู่เปลือกมังคุด หรือมีสมุนไพรเป็นส่วนผสมตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป มีทั้งสบู่ที่เตรียมจากน้ำมันและด่าง และที่ใช้กลีเซอรีนเป็นหลัก รวมทั้งผลิตภัณฑ์สบู่เหลวสมุนไพรอีกด้วย ในปัจจุบันสบู่กลีเซอรีนที่มีส่วนผสมของสารสกัดมะม่วงยังไม่มีการผลิตมาก่อน

การผลิตสบู่สมุนไพรที่มีส่วนผสมของสารสกัดมะม่วง ร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ ที่มีสรรพคุณบำรุงผิวพรรณ เช่น ขมิ้นชัน ไพล เป็นต้น จะได้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยชำระล้างสิ่งสกปรกและมีสรรพคุณบำรุงผิวพรรณ สรรพคุณเฉพาะตัวของสมุนไพรไทยและส่วนประกอบธรรมชาติอื่นๆที่เป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่าย ราคาไม่แพงในประเทศ ทำให้ผลิตภัณฑ์สบู่สมุนไพรของไทย ตลอดจนผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นๆจึงยังเป็นโอกาสที่ดีในการขยายตลาดสู่ต่างประเทศที่มีต้นทุนทางวัตถุดิบสมุนไพรสูงกว่า

จากสรรพคุณในการต้านอนุมูลอิสระและต้านแบคทีเรียได้เป็นอย่างดี ของสารสกัดมะม่วงและสรรพคุณในการบำรุงผิวพรรณของสมุนไพรอื่นๆ เช่น ขมิ้น ไพล น้ำผึ้ง ทำให้ได้เป็นสบู่สมุนไพรที่สามารถชำระล้างสิ่งสกปรก ป้องกันเชื้อโรคทางผิวหนังและช่วยฟื้นฟูบำรุงผิวพรรณได้เป็นอย่างดี ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่สมุนไพรไทยสามารถนำไปผลิตเชิงพาณิชย์ได้

การอนุญาตให้ใช้สิทธิฯ ในครั้งนี้ หน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญาได้เจรจาและมีข้อตกลงร่วมกันกับกรรมการบริหาร บริษัท นอร์ด เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในการคิดมูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญาของผลงานดังกล่าว โดยคิดเป็นค่าเปิดเผยเทคโนโลยี และค่าตอบแทนการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Royalty fee) ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของโครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ (Thailand Techshow) ซึ่งจะได้มีการนำเข้าสู่กระบวนการจัดสรรผลประโยชน์ตามระเบียบและประกาศ ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามต่อไป

พิเชษฐ ยากรี – มหาสารคาม