In Thailand

ชาวบ้าน36ครัวเรือนวอนนายกลุงตู่ช่วย ถูกจนท.ยึดทำลายสวนปาล์มกว่า20ปี



ชุมพร-ชาวบ้านยากจน 36 ครัวเรือน วอนถึง “นายกลุงตู่” ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจยึดทำลายสวนปาล์มปลูกมานานกว่า 20 ปี ใช้ทำกินเลี้ยงชีพ ทนายความชาวบ้านเผยราษฎรอยู่ก่อนประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ป่าชายเลน

วันที่ 9 เมษายน 2565  นายทรงสิทธิ์ พุ่มศรี นายก อบต.ปากคลอง นายอนุรักษ์ เรืองธัมรงค์ นายสุชาติ ยาดำ นายลิขิต ศรีชาติ ทนายความ พร้อมชาวบ้าน 36 ครัวเรือน เกือบ 100 คน นำผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สวนปาล์มน้ำมันของชาวบ้านบริเวณหมู่ 2,3,4,5 ตำบลปากคลอง อ.ปะทิว จ.ชุมพร เนื่องจากพื้นที่สวนปาล์มดังกล่าวชาวบ้านทำกินมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 หลังเกิดพายุไต้ฝุ่นเกย์1 ปี ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.2543  คณะรัฐมนตรี มีมติประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์ป่าชายเลน กระทั่งปี พ.ศ.2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)มีคำสั่ง ให้ดำเนินการกับนายทุน หรือผู้มีอิทธิพล และผู้ที่บุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่าสงวน แต่ปรากฏว่า คสช.ในช่วงขณะนั้น นำโดยทหารจาก มบท.44 ชุมพร นำกำลังเข้ามาตรวจยึดพื้นที่ โดยไม่ฟังเสียงคัดค้านของชาวบ้านที่ทำกินมานานและชาวบ้านไม่ได้เป็นผู้มีอิทธิพลหรือนายทุนแต่อย่างใด

นายทรงสิทธิ์ พุ่มศรี นายก อบต.ปากคลอง กล่าวว่าตนเป็นคนในพื้นที่โดยกำเนิด ชาวบ้านที่เดือดร้อนทั้งหมดเป็นคนยากจนหาเช้ากินค่ำอยู่ในพื้นที่ตำบลปากคลอง อยู่ทำกินบนที่ดินผืนดังกล่าวมานานโดยปลูกปาล์มน้ำมันคนละ 10 -20 ไร่ บางคนไม่ถึง 10 ไร่ก็มี ขณะที่บางครอบครัวก็ตกทอดมาจากพ่อแม่ปู่ย่าตายาย ใช้เลี้ยงครอบครัวมาถึงปัจจุบัน ที่ผ่านมา คสช.เข้าตรวจสอบยึดที่ดินทำกินของชาวบ้านโดยไม่ฟังเสียงความเดือดร้อนของชาวบ้าน เพราะเป็นยุค คสช.เป็นการใช้อำนาจพิเศษ ทหารได้นำกำลังเข้าพื้นที่พร้อมอาวุธสงครามครบมือ ขณะที่ชาวบ้านก็หวาดและถูกข่มขู่จนกลัวไม่กล้า

นายทรงสิทธิ์ กล่าวว่าการที่ คสช.เข้ามาตรวจยึดจุดไหนที่เป็นของนายทุนจริงชาวบ้านก็เห็นด้วยสนับสนุนให้ยึดไปเลย แต่ชาวบ้านทั้ง 36 ครัวเรือนที่มาในวันนี้เป็นกลุ่มคนยากจนไม่ใช่นายทุน ที่ผ่านมาก็ได้มีการร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปตามขั้นตอนหลายหน่วยงานทั้งในจังหวัด ระดับรัฐมนตรี และ นายกรัฐมนตรี ก็มีการพูดคุยเข้าใจกันด้วยดีมาตลอด

นายทรงสิทธิ์ กล่าวว่าเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 สุราษฎร์ธานี  ได้มีหนังสือแจ้งไปยังอำเภอปะทิว องค์กรบริหารส่วนตำบล(อบต.)ปากคลอง และหน่วยงานอื่น ๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมดำเนินการรื้อถอนพืชผลอาสินในพื้นที่ดังกล่าวจำนวน 16 แปลง 826 ไร่ ในวันที่ 11 เมษายน 2565 จึงทำให้ชาวบ้านทั้ง 36 ครัวเรือน เดือดร้อนเพราะจะหมดอาชีพทำกิน จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือด้วย

ด้านนายอนุรักษ์ เรืองธัมรงค์ อายุ 67 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลปากคลอง บอกว่าตนเองไม่มีที่ดินทำกินในพื้นที่ดังกล่าว แต่ตนเป็นคนในพื้นที่รู้ความจริงดีว่าชาวบ้านทั้ง 36 ครัวเรือน เป็นคนยากจนในพื้นที่จริง ที่ผ่านมาตนเป็นตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมเจรจาขอความเป็นธรรมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ก็มีการจัดประชุมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกให้กับชาวบ้านมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนก็เข้าใจในปัญหานี้ดี

นายอนุรักษ์กล่าวอีกว่า แล้วอยู่ ๆ ทำไมสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 สุราษฎร์ธานี จะเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการรื้อถอนพืชผลอาสิน ส่วนใหญ่เป็นปาล์มน้ำมันมีอายุ 20-30 ปี และมีบางส่วนชาวบ้านได้ปลูกทดแทนปาล์มเก่าที่มีอายุมากแล้ว แต่เจ้าหน้าที่กลับบอกว่าเป็นการบุกรุกใหม่ทั้ง ๆที่เป็นพื้นที่ทำกินเดิม จึงขอวิงวอนไปยัง “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นใจชาวบ้านด้วย

ขณะที่ นายสุชาติ ยาดำ อดีตกำนันตำบลปากคลองกล่าวว่าที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐไม่มีความชัดเจนปล่อยให้ชาวบ้านทำกินมานาน 10-20 ปี จนปาล์มโตเก็บผลผลิตได้แล้ว และจะมาทำลายโค่นต้นปาล์มในตอนนี้ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่เลี้ยงครอบครัว เสมือนทำร้ายซ้ำเติมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด ให้หนักมากขึ้นอีก

 “ตนมีคำถามว่ารัฐบาลเห็นชาวบ้านที่ยากจนหรือไม่ จึงขอวิงวอนไปยังรัฐบาลว่าหากมีความจริงใจช่วยชาวบ้านยากจนจริง ๆ ให้ลงพื้นที่มาตรวจสอบว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของนายทุนหรือชาวบ้านจะได้รู้ความจริง  ซึ่งหากหน่วยงานรัฐเข้ามาตัดทำลายต้นปาล์มชาวบ้านต้องเดือดร้อนอย่างสาหัส ทั้งเป็นหนี้ ธกส.และส่งลูกเรียนหนังสือ แล้วชาวบ้านจะทำอะไรกิน” นายสุชาติกล่าว

ด้านนายลิขิต ศรีชาติ ทนายความ กล่าวว่าตนได้รับมอบหมายจากชาวบ้านให้ช่วยเหลือและร่วมประชุมเจรจากับหน่วยงานเกี่ยวข้องที่ศาลากลางจังหวัดชุมพร หลายครั้งแล้วเพื่อให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านและหาทางออกเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองก็เข้าใจชาวบ้านดี แต่เจ้าหน้าที่จากสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กลับอ้างว่าถ้าไม่ทำจะเป็นการละเว้นเจ้าหน้าที่จะมีความผิด ซึ่งจริง ๆแล้วยังสามารถชะลอการเข้าตัดทำลายรื้อถอนได้ เพื่อหาข้อสรุปและข้อยุติให้ได้เสียก่อน

“ การประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาให้กับชาวบ้าน ซึ่งฝ่ายกฎหมายและอัยการ ยังบอกเลยว่า เจ้าหน้าที่ที่เข้าไปตรวจยึดพื้นที่ไม่สามารถดำเนินคดีกับชาวบ้านในข้อหาบุกรุกได้พื้นที่เขตอนุรักษ์ป่าชายเลนได้ เนื่องจากชาวบ้านอยู่ทำกินมาตั้งแต่ปี 2533 และมติ ครม.ออกมาประกาศให้เป็นเขตอนุรักษ์ป่าชายเลน เมื่อปี พ.ศ.2557 จึงอยากให้รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ช่วยเหลือชาวบ้านด้วย” ทนายลิขิต กล่าว

ต่อมาทางชาวบ้านได้นำผู้สื่อข่าวแปลงที่ทางเจ้าหน้าที่ได้ยึดจากนายทุน แปลงใหญ่ เนื้อที่ กว่า 700 ไร่ และเจ้าหน้าที่ได้ทำการโค่นต้นปาล์มน้ำมันลง ก่อนจัดงบประมาณจัดซื้อกล้าต้นโกงกาง มาปลูกทดแทน โดยรอบแรก ได้ปลูกโกงกางไปแล้ว เมื่อประมาณต้นปี จำนวน 300 ไร่ ซึ่งปรากฏว่า ต้นโกงกาง ทั้งหมดกว่า 3 พันกล้า ได้ทยอยตายลง โดยชาวบ้านบอกว่า ไม่เข้าใจทำไมทางเจ้าหน้าที่จึงปลูกต้นโกงกาง ซึ่งรู้อยู่แล้วว่าต้นโกงกาง เป็นพืชน้ำเค็มหรือน้ำกร่อย ไม่สามารถขึ้นได้ในพื้นที่ปลูกชุ่มน้ำอย่างป่าพรุ ซึ่งเป็นน้ำจืด และอยู่ห่างจากทะเลประมาณ 15 กิโลเมตร จึงทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณและไม่สามารถฟื้นฟูสภาพป่าได้จริงตามนโยบายแต่อย่างใดเหมือนกับตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เสียงบประมาณโดยไม่เกิดประโยชน์เลย

วิทยา / ชุมพร