In Thailand

พช.ศรีสะเกษส่งเสริมการทอผ้าไหมมัดหมี่ ลายสร้างสรรค์วิถีชีวิตชาวชนบทไทย



ศรีสะเกษ-พช.ศรีสะเกษ ส่งเสริมการทอผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้างสรรค์วิถีชีวิตชาวชนบทไทย ตามพระดำรัสของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา 

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 เวลา 14.00 น.ที่กลุ่มพัฒนาอาชีพทอผ้าไหมหมู่ 2 บ้านเป๊าะ ตำบลบึงบูรพ์ อำเภอบึงบูรพ์ จังหวัดศรีสะเกษ นางสาวชนมณัฐ รอดบุญธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยนางสาววริศรา โสภาค พัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานการทอผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้างสรรค์วิถีชีวิตชาวชนบทไทย ตามพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2565 ให้สำรวจช่างทอผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้างสรรค์วิถีชีวิตชาวชนบทไทย โดยมีนายอิทธิพล สุยะลา นายอำเภอบึงบูรพ์ นางรัชนี แสงสว่าง พัฒนาการอำเภอบึงบูรพ์ และสมาชิกกลุ่มพัฒนาอาชีพทอผ้าไหมหมู่ 2 บ้านเป๊าะ ร่วมให้การต้อนรับและนำเยี่ยมชมการดำเนินงานการทอผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้างสรรค์วิถีชีวิตชาวชนบทไทย

นางสาวชนมณัฐ รอดบุญธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า การติดตามการดำเนินงานการทอผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้างสรรค์วิถีชาวชนบทไทยในครั้งนี้ ได้พบกับช่างทอผ้าที่ยังคงสืบสานรักษาและต่อยอดศิลปหัตกรรมอันทรงคุณค่า ในการทอผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้างสรรค์วิถีชีวิตชาวชนบทไทย ตามพระดำรัสของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2565 โดยได้ชื่นชมถึงความปราณีตงดงามของการทอผ้าไทมมัดหมี่ลายสร้างสรรค์วิถีชีวิตชาวชนบทไทย และสอบถามถึงกระบวนการผลิตผ้าแต่ละลาย กับช่างทอผ้าในพื้นที่ โดยพบว่าปัจจุบันมีช่างทอผ้าฯ ที่ยังทอผ้าประเภทนี้ จำนวน 3 ราย ดังนี้คือนางวรัชญาณ์ นนท์ชนะ อายุ 57 ปี  นางอรุณศรี รักษาทรัพย์ อายุ 68 ปี (ตามรอยพ่ออย่างพอเพียง)  และนางเสถียร พรหมทา อายุประมาณ 80 ปี (โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริ และงานบุญพระเวสสันดร เดือน 4)   และได้รับทราบถึงการทอผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้างสรรค์ฯ ส่วนใหญ่จะเป็นการทอเก็บไว้เพื่อส่งประกวดในงานศูนย์ศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยจะถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชนบท และเน้นความละเอียดของการทอผ้า/ลายผ้า แต่ด้วยปัจจุบันไม่ได้มีการประกวดฯ จึงทำให้การทอผ้าประเภทหายไปบ้างไม่มีผู้สืบทอด เพราะช่างทอต้องมีจินตนาการคิดออกแบบ และทอลวดลายต่าง ๆ ออกมา 

รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการศูนย์ศิลปาชีพ เริ่มต้นจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีความห่วงใยประชาชน ในชนบท พระองค์ทรงมีพระราชดำริ ที่จะช่วยให้พสกนิกรของพระองค์ท่าน มีความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพียงพอ ต่อการเลี้ยงครอบครัว จึงได้พระราชทานพระราชดำริ ให้ประชาชน ทำงานศิลปาชีพ เพื่อเพิ่มพูนรายได้โครงการศิลปาชีพได้จัดตั้งขึ้นตามท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อให้ราษฎรมีอาชีพหัตถกรรมเป็นอาชีพเสริมเพิ่มพูนรายได้ โดยไม่ต้องขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ ดังเมื่อครั้งอดีต พระองค์ทรงเน้นการนำวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ทางหัตถกรรมเป็นหลัก และจากการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรทั่วประเทศ ทรงคัดเลือกสมาชิกศิลปาชีพจากครอบครัวราษฎรที่ยากจน ไร้ที่ทำกินและมีบุตรมากจากทั่วทุกภาคของไทยเข้ามารับการฝึกศิลปหัตถกรรมในศูนย์ศิลปาชีพต่างๆ 

ด้านนางสาววริศรา โสภาค พัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า นอกจากนี้กลุ่มพัฒนาอาชีพทอผ้าไหมได้ประดิษฐ์ผีเสื้อจากผ้าไหมเพื่อนำไปประดับในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 โดยกำหนดจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ระหว่างวันที่ 1 - 15 สิงหาคม 2565 ณ บริเวณถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ จะนำผีเสื้อที่ประดิษฐ์จากผ้าไหม ผ้าฝ้าย หรือผ้าตามอัตลักษณ์ ของจังหวัดไปประดับในการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ โดยจังหวัดศรีสะเกษมีผ้าลายลูกแก้วซึ่งเป็นผ้าอัตลักษ์ที่โดดเด่น และย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ คือ ผ้าทอเบญจศรี ได้แก่ ศรีลาวา ศรีมะดัน ศรีลำดวน ศรีกุลา และศรีมะเกลือ และมีการปักแส่วผ้าที่มีความประณีต สวยงามมาตั้งแต่โบราณ จึงได้ร่วมกันประดิษฐ์ผีเสื้อที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ โดยใช้ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าลายลูกแก้ว และผ้าทอเบญจศรีที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ และปักแส่วด้วยลวดลาย เส้นไหมในปีกและขอบปีกผีเสื้อให้เกิดความสวยงามและเพิ่มมูลค่า    

จึงขอเชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน ร่วมประดิษฐ์ผีเสื้อที่ทำจากผ้าไหม ผ้าฝ้าย หรือ ผ้าทอเบญจศรี ตามอัตลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ และแส่วลายอัตลักษณ์จังหวัดศรีสะเกษ และใช้วัสดุจากธรรมชาติ นำไปประดับในนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ให้มีขนาดและสีแตกต่างกันตามความเหมาะสม เพื่อจัดส่งผีเสื้อให้กระทรวงมหาดไทย ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2565

ข่าว/ภาพ...... บุญทัน  ธุศรีวรรณ   ศรีสะเกษ