In Thailand

'หมอทวีศิลป์'เปิดรณรงค์สุขภาพผู้สูงอายุ สุขเพียงพอ ชะลอชรา ชีวายืนยาว



ศรีสะเกษ-ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่10 เปิดกิจกรรมรณรงค์สร้างกระแสการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ New Normal  Aging Society : สุขเพียงพอ ชะลอชรา ชีวายืนยาว ที่แสนสุข

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565  ที่หอประชุมโรงเรียนเทศบาลแสนสุข อำเภอวารินชำราบ  จังหวัดอุบลราชธานี นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน  ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10  เป็นประธานเปิดการรณรงค์สร้างกระแสการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ “New Normal Aging Society : สุขเพียงพอ ชะลอชรา ชีวายืนยาว ที่แสนสุข”โดยมี นายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์  ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี ผู้บริหารในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี ประกอบด้วยจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ  อำนาจเจริญ  ยโสธร  และจังหวัดมุกดาหาร  นำผู้แทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ  องค์การบริหารส่วนจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ  ศูนย์วิชาการ  และชมรมผู้สูงอายุ จำนวน 100 คน เข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์สร้างกระแสการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ “New Normal Aging Society และร่วมพิธีประกาศนโยบายการส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ เขตสุขภาพที่ 10 และการแสดงนิทรรศการ “เมืองเป็นมิตรของคนสูงวัย นวัตกรรมยุคใหม่ไทอีสาน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวเชิงป้องกันในชุมชนรองรับสังคมผู้สูงอายุ  ทั้งนี้การจัดกิจกรรมด้งกล่าวในครั้งนี้ ได้ดำเนินการภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัด

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน  ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10  กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีประชากรค่อนข้างคงตัวอยู่ที่ 65 ล้านคน โดยประชากรที่สัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คือกลุ่มผู้สูงวัย ซึ่งในปี 2564 ประเทศไทย ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ถึงร้อยละ20 ของจำ นวน ประชากรทั้งประเทศ และ คาดว่าในปีพ.ศ.2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับ สุดยอด เพราะจะมีประชากร อายุ 60 ปีขึ้นไป ถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีการสำ รวจพบว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้ม ปีละ 1,000 คน และ 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุที่หกล้มไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10  กล่าวต่อไปว่า จากข้อมูลสถานการณ์ของเขตสุขภาพที่10 ปี พ.ศ 2565 พบว่า มีประชากรผู้สูงอายุ 747,325 คน คิดเป็นร้อยละ 16.29 ทั้งนี้ จากการคัดกรอง ADL พบว่า มีผู้สูงอายุกลุ่มต่างๆ ดังนี้ ติดสังคม ร้อยละ 93.21 ติดบ้าน ร้อยละ 5.99 และติดเตียง ร้อยละ 0.79 จากสัดส่วนดังกล่าวและจากข้อมูลย้อนหลังที่ผ่านมา พบว่า มีกลุ่มผู้สูงอายุติดสังคมและกลุ่มผู้สูงอายุพึ่งพิงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มวัยทำงานจะต้องรับภาระ ดูแลผู้สูงอายุในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามลำดับ จากปัญหาดังกล่าว จึงเป็นประเด็นที่จะต้องได้รับการทบทวนจากทุกภาคส่วน และโจทย์สำคัญของการดูแลผู้สูงอายุไม่ใช่เพียงเรื่องทางกาย แต่ยังต้องดูแลเรื่องทางจิตใจ และสังคมเป็นองค์ประกอบ โดยมีปลายทางคือ ผู้สูงอายุมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และดำเนินชีวิตในชุมชนสังคมได้อย่างปกติสุข ต่อไป    

ข่าว/ภาพ...... บุญทัน  ธุศรีวรรณ   ศรีสะเกษ