Travel Sport & Soft Power
หมดสงกรานต์ตลาดกุ้งก้ามกรามซบเซา แถมเขื่อนลำปาวจะปิดน้ำกุ้งอาจน็อคตาย
กาฬสินธุ์-บรรยากาศจับกุ้งก้ามกราม และจำหน่ายกุ้งก้ามกราม สัตว์เศรษฐกิจอันดับหนึ่งของจังหวัดกาฬสินธุ์ หลังสิ้นสุดเทศกาลสงกรานต์ และยังอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 ซบเซาอย่างหนัก ทำให้กุ้งก้ามกรามในบ่อตกค้างเป็นจำนวนมาก ขณะที่ผู้ประกอบการเลี้ยงกุ้งระบุยอดขายลดลงจากเทศกาลปีใหม่ 50% และต่างวิตกกังวล เพราะเขื่อนลำปาวที่เป็นแหล่งน้ำสำหรับเลี้ยงกุ้ง กำลังจะปิดการส่งน้ำ ที่อาจจะไม่มีน้ำเปลี่ยนถ่าย ประกอบอากาศเปลี่ยนแปลง เป็นสาเหตุทำให้กุ้งน็อคเสียหาย เกิดความเสียหายมูลค่ามหาศาล
เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามและตลาดรับซื้อ รวมทั้งร้านอาหาร ที่เป็นจุดพักและจำหน่ายอาหารเมนูกุ้งก้ามกราม ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ และใกล้เคียง ในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ผ่านพ้นไป พบว่าตกอยู่ในความเงียบเหงา ทั้งในส่วนของการจับกุ้ง ขนส่งกุ้ง และตลาดซื้อขายกุ้ง โดยผู้ประกอบการหลายรายระบุว่า บางวันขายไม่ได้ขายแม้แต่กิโลกรัมเดียว
จากสอบถามนายปิยะ ลิขิตชีวิตตน อายุ 41 ปี อยู่บ้านเลขที่ 62 หมู่ 6 บ้านนาแก ต.นาเชือก อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นทั้งเกษตรกรเลี้ยงกุ้ง พ่อค้าคนกลาง และเจ้าของร้านจำหน่ายอาหารเมนูกุ้งก้ามกราม กล่าวว่า ตั้งแต่ครอบครัวตนหันมาประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งก้ามกรามแบบครบวงจร คือเลี้ยงเอง ขายเอง มาประมาณ 12 ปี เพิ่งจะมีปีนี้ที่บรรยากาศการซื้อขายซบเซามาก โดยเริ่มมาจากเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเงียบเหงากว่าเทศกาลปีใหม่ ยอดขายตกต่ำกว่าที่ตั้งเป้าไว้ถึง 50% ส่งผลกระทบถึงช่วงนี้ ที่บางวันแทบจะไม่ได้จับกุ้งขายเลย
นายปิยะกล่าวอีกว่า เดิมในเทศกาลปีใหม่ เคยขนส่งกุ้งให้ลูกค้าภายใน จ.กาฬสินธุ์ และต่างจังหวัดวันละ 2-3 เที่ยว เที่ยวละ 500-600 กิโลกรัม เทศกาลสงกรานต์ก็ปริมาณใกล้เคียงกัน แต่สำหรับปีนี้ยอดขายตกต่ำมาก จากที่ตั้งเป้าไว้ค่อนข้างสูง มีการเตรียมกุ้งก้ามกรามสด ตัวโตๆ โดยแจ้งออเดอร์กับกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งไว้อย่างดี แต่พอถึงเทศกาลสงกรานต์เข้าจริงๆ ยอดจำหน่ายกลับลดหายไปครึ่งต่อครึ่ง ทั้งนี้ มีสาเหตุจากสภาพเศรษฐกิจ และสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19
“เมื่อกุ้งก้ามกรามขายไม่ออก จึงเหลือตกค้างเป็นจำนวนมาก เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก็เกิดความวิตกกังวล ทั้งเลี้ยงกุ้งระยะเวลายาวนานหลายเดือน ถึงเวลาจับจำหน่ายไม่ได้จับ ต้องสิ้นเปลืองอาหารเลี้ยงกุ้ง ซึ่งราคาสูงกระสอบละ 1,000 บาท นอกจากนี้ทราบว่าวันที่ 30 เม.ย.ที่จะถึงนี้ ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว หรือเขื่อนลำปาว ซึ่งเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับเลี้ยงกุ้ง จะปิดการส่งน้ำประมาณ 1 เดือน เพื่อให้ชาวนาเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรัง ก็จะทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งไม่มีน้ำเปลี่ยนถ่ายในบ่อ ประกอบกับเป็นช่วงเปลี่ยนจากฤดูร้อนเป็นฤดูฝน อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย กุ้งในบ่อที่หนาแน่นปรับสภาพไม่ทัน ปัญหาที่จะตามมาก็คือกุ้งน็อคตาย เกิดความเสียหายมูลค่ามหาศาล” นายปิยะกล่าว
อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น หลังเขื่อนลำปาวปิดการส่งน้ำ ตนและเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ก็จะนำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งริมคลองส่งน้ำและตามแหล่งน้ำ เพื่อสูบน้ำเติมเข้าบ่อ ทำให้สิ้นเปลืองทุนเลี้ยงกุ้งเพิ่มขึ้นอีก ในส่วนของการซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง ปัญหาที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งประสบ จึงไม่ต่างกับชาวนาและเกษตรกรที่ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง ที่แบกรับต้นทุนการผลิต เช่น ค่าปุ๋ยเคมีราคาสูง แต่ราคาขายผลผลิตตกต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพเลี้ยงกุ้งก้ามกราม ที่ในช่วงนี้ซบเซามาก เนื่องจากไม่มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อ สถานการณ์ตลาดกุ้งหลังเทศกาลสงกรานต์ จึงเงียบเหงา และอยู่ไปวันๆเหมือนรอวันกุ้งน็อคตายดังกล่าว