In Thailand

เพชรบูรณ์จัดวันครอบครัว-วันสตรีสากล ร่วมกับเวทีสมัชชาครอบครัว-สมัชชาสตรี



เพชรบูรณ์-จัดงานวันแห่งครอบครัว วันสตรีสากล บูรณาการร่วมกับเวทีสมัชชาครอบครัว และสมัชชาสตรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำปี 2565 

ที่ห้องประชุมศูนย์คนพิการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธานเปิดงานวันแห่งครอบครัว วันสตรีสากล บูรณาการร่วมกับเวทีสมัชชาครอบครัวและสมัชชาสตรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำปี ๒๕๖๕  โดย นางสาวณิชาภัทร  วิบูลย์พานิช พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นางจินตนา ทองใจสด ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีจังหวัดเพชรบูรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ผู้แทนครอบครัวในชุมชน เครือข่ายองค์กรสตรีในจังหวัด ผู้แทนอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ผู้ได้รับการคัดเลือกระดับจังหวัดเป็นบุคคลดีเด่นด้านการพัฒนาครอบครัว ครอบครัวร่มเย็น  สตรีไทยดีเด่นระดับจังหวัด สตรีไทยสากลระดับจังหวัด  เข้าร่วม 
นางสาวณิชาภัทร  วิบูลย์พานิช พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมประสบปัญหาประเด็นเกี่ยวกับครอบครัวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของครัวเรือนที่มีขนาดเล็กลง คนวัยหนุ่มสาวนิยมครองโสดมากขึ้น เด็กเกิดน้อยลง ในขณะที่จำนวนประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น สังคมประเทศไทยก้าวสู่การเป็น“สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” ตั้งแต่ปี 2564 ที่ผ่านมา  โดยการจัดงานในครั้งนี้ มีกิจกรรมประกอบด้วย  การมอบเกียรติบัตรแก่ครอบครัวร่มเย็นระดับจังหวัด จำนวน 2 รางวัล มอบเกียรติบัตรแก่บุคคลดีเด่นด้านการพัฒนาครอบครัว จำนวน 1 รางวัล มอบเกียรติบัตรแก่สตรีไทยดีเด่น 3  รางวัล มอบมอบเกียรติบัตร สตรีสากล 1 รางวัล  และ มอบประกาศเกียรติคุณ ยกย่องเป็นผู้สูงอายุที่เป็นแบบอย่างที่ดีในสังคมระดับจังหวัด 1 รางวัล  นอกจากนี้ยังมี  กิจกรรมเวทีเสวนา “การเสริมสร้างพลังสตรีและครอบครัวในการจัดการภัยพิบัติในภาวะวิกฤต และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อครอบครัว” และ กิจกรรมสมัชชาครอบครัวและสมัชชาสตรี แบ่งกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และระดมความคิดเห็น เพื่อร่วมจัดทำข้อเสนอในการดำเนินงานด้านการพัฒนาสตรีและครอบครัวระดับจังหวัด
สำหรับความเป็นมาวันสตรีสากล International Women's Day  ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคม เกิดจากการรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1907 หลังจากที่สาวโรงงานทอผ้าในเมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีการชุมนุมประท้วง เนื่องจากพวกเธอถูกนายจ้างเอาเปรียบ กดขี่ และทารุณ ส่วนอีกประการหนึ่ง คือ “สตรีไทย” โดยพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชานุญาติให้ใช้ วันที่ 1 สิงหาคมของทุกปีเป็น “วันสตรีไทย” ทรงมีพระราชดำรัสในพิธีเปิดงานโครงการรวมพลังสตรีไทย เทิดไท้องค์ราชินี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2546 เนื่องใน “วันสตรีไทย” ดังนี้ “สตรีไทยในยุคปัจจุบัน มีความคิดก้าวหน้าและทันสมัยมากขึ้น จึงมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการพัฒนาประเทศ การสั่งสมภูมิปัญญาของสตรีไทยสืบเนื่องกันมานับแต่โบราณกาลจวบจนปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดเอกลักลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันเป็นความภาคภูมิใจยิ่งของชาวไทย และการที่จะธำรงความภาคภูมิใจนี้ไว้ให้ยั่งยืน ย่อมเป็นหน้าที่ของสตรีไทยทุกคน ที่จะต้องช่วยกันรักษาและเชิดชูเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้สืบทอดไปยังอนุชนรุ่นต่อไปโดยไม่ขาดสาย

มนสิชา  คล้ายแก้ว/สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเพชรบูรณ์