EDU Research & ESG

ปธ.ค.ร.อ.ท.เดินสายยื่นหนังสือปปช.-สภา ตรวจสอบการบริหารงานสนง.อาชีวศึกษา



กรุงเทพฯ-นายเศรษฐศิษฏ์  ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย(ค.ร.อ.ท.) ในนามภาคประชาชน กล่าวว่าวันนี้ช่วงเช้าได้มายื่นหนังสือ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และยื่นที่สำนักนายกรัฐมนตรีถึงท่านวิษณุ เครืองานจากนั้นจะไปยื่นหนังสือต่อเลขาธิการคณะกรรมการปปช. และสุดท้ายที่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อยื่นหนังสือต่อผู้นำฝ่ายค้านสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการตรวจสอบการดำเนินบริหารงานในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเพื่อให้มีการแก้ไขและมีการปฎิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย มีประเด็นหลัก 4  ประเด็นได้แก่

1. การจ้างที่ปรึกษาในสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กว่า 15 คน ถือเป็นการใชจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินที่เกินความจำเป็น ทั้งที่ในสอศ.เองมีตำแหน่งที่ปรึกษาที่เป็นตำแหน่งข้าราชการ 4 ตำแหน่งมากพอที่จะให้การช่วยขับเคลื่อนการอาชีวศึกษาได้ การจ้างที่ปรึกษาจากคนภายนอกโดยภาพรวมจะเป็นการจ้างข้าราชการที่เกษียณจากสอศ.เป็นหลักไม่ได้มีการการจ้างผู้เชี่ยวชาญเพื่อทดแทนแต่อย่างใดบางรายมีการจ้างต่อเนื่องกว่าสิบปี ค.ร.อ.ท. มองว่าเป็นการจ้างเพื่อประโยชน์ทางราชการหรือเพื่อตอบแทนบุญคุณกัน จึงเห็นควรที่สอศ. ควรมีการทบทวนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นการประหยัดงบและนำงบเหล่านี้ไปสนับสนุนวิทยาลัยต่างที่ขาดแคลนงบประมาณมีอีกจำนวนมากที่รอการช่วยเหลือ ขณะเดียวกันที่ปรึกษาเหล่านี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก สอศ. ให้ได้รับตำแหน่งต่างๆ เช่น เป็นคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ)และบางคนได้รับการสนับสนุนจาก สอศ. ให้ดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบัน ทั้งแบบที่ผ่านมาบุคลเหล่านี้ก็ไม่ได้มีผลงานเป็นที่ยอมรับแต่อย่างใดแต่ได้รับการตอบแทนจาก สอศ.แบบเต็มรูปแบบ

2. ปัญหาการแต่งตั้งกรรมการสภาสถาบันการอาชีวศึกษา จำนวน 23 แห่ง ในกรณีตาม พรบ.การอาชีวศึกษา 2551 ม.23(3)ให้อาชีวศึกษาแต่งตั้งบุคคลเพื่อไปเป็นกรรมการสภาสถาบันแห่งละ 4 คน โดยมีการกำหนดคุณสมบัติที่หลากหลายอาชีพมีความรู้มีประสบการณ์เพื่อจะได้ให้การช่วยเหลือสนับสนุนสถาบัน ให้มีการขับเคลื่อนสู่ความเป็นเลิศ แต่สอศ. กลับมีการใช้อำนาจของผู้บริหารระดับสูงแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานและข้าราชการคนใกล้ชิด ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฏหมายและไม่เกิดคุณต่อสถาบันการอาชีวศึกษาแต่อย่างใด และประเด็นสำคัญคือเมื่อมีการประชุมสภาสถาบันข้าราชการเหล่านี้ต้องทิ้งงานราชการประจำและยังมีการใช้จ่ายงบประมาณการเดินทางของสถาบันทำให้สิ้นงบประมาณไม่คุ้มค่าแต่อย่างใด

3. การที่ สอศ.มีการมีการออกระเบียบว่าด้วยการบริหารอาชีวศึกษาจังหวัดและอาชีวศึกษาภาค  พ.ศ. 2559 ที่เป็นการออกระเบียบที่ขัดต่อพรบ.การอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 จึงทำให้มีผลกระทบต่อการที่ สอศ.ที่ออกคำสั่งแต่งตั้งประธานอาชีวศึกษาจังหวัดและคณะกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัด รวมถึงการแต่งตั้งประธานอาชีวศึกษาภาค ซี่งโดยหลักการแล้วเมื่อไม่มีกฎหมายให้กระทำหรือมีโครงสร้างการบริหารรองรับสอศ.ย่อมเป็นกระทำที่มิชอบหรือแต่งตั้งโดยไม่มีอำนาจ ค.ร.อ.ท.จึงเห็นควรให้มีการยกเลิกการแต่งตั้งเพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับการอาชีวศึกษาอีกต่อไปและผู้ได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งที่ไม่ชอบเมื่อไปปฎิบัติหรือทำนิติกรรมใดๆย่อมไม่มีผล 

4. การดำเนินการสอบคัดเลือกผู้อำนวยการวิทยาลัยเป็นการดำเนินการโดยไม่ชอบ จึงขอให้มีการยกเลิกการสอบและดำเนินการสอบใหม่ เนื่องจากมีการร้องเรียนจากผู้เข้าสอบคัดเลือกผอ.วิทยาลัยครั้งนี้น่าจะเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบ โดยมีขั้นตอนที่น่าจะไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมายประเด็นที่ขั้นตอนการการประเมินภาค ข เนื่องจากสอศ. มีการมอบหมายให้ประธานอาชีวศึกษาภาคตั้งคณะกรรมการประเมินภาค ข โดยตำแหน่งที่ออกคำสั่งเพื่อดำเนินการประเมินภาค ข ไม่มีในโครงสร้างการบริหารในอาชีวศึกษาและไม่มีกฎหมายรองรับการดำเนินการย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย การดำเนินการตั้งคณะกรรมการประเมินภาค ข ยอมไม่มีผลจึงทำให้การประเมินภาคข ย่อมไม่ชอบจึงทำให้การสอบคัดเลือผอ.วิทยาลัย ครั้งนี้ย่อมไม่ชอบเช่นกัน เครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษา(ค.ร.อ.ท.) จึงขอให้ผู้มีอำนาจสั่งให้สอศ.ได้ยกเลิกการสอบและดำเนินการสอบใหม่ต่อไป
นายเศรษฐศิษฏ์  ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษา(ค.ร.อ.ท.) ขอให้ขอมูลการยื่นหนังสือครั้งนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะทำลายกระบวนการบริหารใน สอศ.เกิดการกระทบต่อการบริหารงานปกติ แต่เพียงแค่ต้องการให้อาชีวศึกษา ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องและเกิดความเป็นธรรมและมีหลักธรรมาภิบาลเกิดขึ้นและเป็นประโยชน์ต่อการอาชีวศึกษาของประเทศ