EDU Research & ESG

มรภ.ศรีสะเกษเปิดเวทีสังเคราะห์ข้อมูล แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนเมือง



ศรีสะเกษ-อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษเปิดเวทีสังเคราะห์ข้อมูลแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนอำเภอเมืองศรีสะเกษ   

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 ที่ห้องถนอมอิทรกำนิด ศรีพฤทธาลัยราชภัฏสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ รศ.ดร.ประกาศิต อานุภาพแสนยากร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ  เป็นประธานเปิดเวทีสังเคราะห์ข้อมูลแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนอำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ  และส่งมอบรายงานผลการศึกษาประสิทธิภาพของระบบและกลไกในการค้นหาและสอบทานข้อมูลคนจนระดับพื้นที่  โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สหัสา พลนิล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประจวบ จันทร์หมื่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ  หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 18 แห่ง เช้าร่วมเสวนาจำนวน 30 คน  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งมอบรายงานผลการศึกษาประสิทธิภาพของระบบและกลไกในการค้นหาและสอบทานข้อมูลคนจนระดับพื้นที่ 18 พื้นที่ เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง   เพื่อรายงานผลการดำเนินการการพัฒนานวัตกรรมแก้จน 4 โครงการ   เพื่อนำเสนอ WaTANA Model แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนจังหวัดศรีสะเกษ  เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาความยากจน และเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุมด้วย ทั้งนี้ได้ดำเนินการดังกล่าว ภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัด  

 รศ.ดร.ประกาศิต อานุภาพแสนยากร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ  กล่าวว่า ตามที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยเรื่องการวิจัยและนวัตกรรมการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ กรณี จังหวัดศรีสะเกษ จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ประจำปีงบประมาณ 2564  ซึ่งการวิจัยครั้งนี้มีความสอดคล้องกับวาระขับเคลื่อนจังหวัดศรีสะเกษ บนเส้นทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน (10 agenda) ในด้านผู้ด้อยโอกาส โดยมีเป้าหมายในการค้นหาทางออกจากความยากจนเพื่อให้ประชาชนจังหวัดศรีสะเกษมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ซึ่งการวิจัยในครั้งนี้ได้ กำหนดพื้นที่การวิจัยที่อำเภอเมืองศรีสะเกษ 18 ตำบล/เทศบาล มีวัตถุประสงค์การวิจัย 4 ข้อ คือ 1) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของระบบและกลไกในการค้นหาและสอบทานข้อมูลคนจนที่ทำให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพครบทั้ง 100% ในระดับอำเภอเมืองศรีสะเกษ 2) เพื่อวิเคราะห์ระบบข้อมูลครัวเรือนยากจนในระดับพื้นที่และประสิทธิภาพของระบบและกลไกการส่งต่อความช่วยเหลือให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3) เพื่อพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการแก้ไขปัญหาความยากจนให้เป็นโมเดลแก้จน 4) เพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายและเชื่อมโยงให้เกิดแผนพัฒนาการแก้ไขปัญหาความยากจนระดับพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ  งานวิจัยนี้มีเป้าหมายสุดท้าย คือนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จ โดยมี 1 อำเภอ 1 ตำบล นำร่องเพื่อดำเนินการ และขณะนี้งานวิจัยได้ดำเนินการมาถึงขั้นตอนการสังเคราะห์ข้อมูล รายงานผลให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบผล และเปิดเวทีรับฟังข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปสู่การเขียนรายงานสรุปโครงการให้มีความสมบูรณ์เป็นลำดับต่อไป    

ข่าว/ภาพ ...... บุญทัน  ธุศรีวรรณ   ศรีสะเกษ