In Bangkok
กทม.ส่งเสริมทุกภาคส่วนร่วมปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง

กรุงเทพฯ-สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.ส่งเสริมทุกภาคส่วนร่วมปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง
นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวกรณีมีข้อเสนอแนะให้ กทม. “แปลงเมืองหลวงให้เป็นอุทยาน” ด้วยการปลูกต้นไม้ในทุกพื้นที่ เพื่อทำกรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ได้ขับเคลื่อนโครงการ GREEN BANGKOK 2030 โดยเชิญชวนและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานและทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เอกชนและประชาชนเปลี่ยนแปลงที่ของตนเองให้เป็นพื้นที่สีเขียว หรือปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งพัฒนาและปรับปรุงระบบฐานข้อมูลพื้นที่สีเขียวของ กทม. ให้ทันสมัยและง่ายต่อการเข้ามามีส่วนร่วมเพิ่มพื้นที่สีเขียวและการปลูกต้นไม้ของเมือง ขณะเดียวกันได้จัดกิจกรรม หรือโครงการต่าง ๆ ที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น โครงการวันเกิดฉันจะปลูก สนับสนุนการมอบ หรือแจกจ่ายกล้าไม้ให้ประชาชนนำไปปลูก และสนับสนุนให้ชุมชนในกรุงเทพฯ เพาะกล้าไม้ เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน
สำหรับการปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในปี 2565 กทม. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในพื้นที่สวนสาธารณะ ใต้ทางด่วน เกาะกลางถนน พื้นที่ชุมชน พื้นที่ว่างเปล่า และในพื้นที่อื่น ๆ ที่สามารถปลูกต้นไม้เพิ่มได้ รวมถึงปัจจุบันได้ขับเคลื่อนนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ซึ่งได้เริ่มปลูกต้นไม้ในพื้นที่ต่าง ๆ และส่งเสริมให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมปลูกต้นไม้ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้เมือง ลดฝุ่น และมลพิษ ส่งเสริมความหลากหลายของระบบนิเวศเมืองและเกิดร่มเงาในพื้นที่เมือง รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มพื้นที่สวนสาธารณะทั้งสวนสาธารณะขนาดเล็กและสวนสาธารณะในชุมชน โดยปัจจุบันมี Pocket Park ที่สร้างเสร็จแล้ว อาทิ สวนปิยะภิรมย์ สวนสันติพร สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ สวนวิภาภิรมย์ อีกทั้งได้จัดหาพื้นที่และพัฒนาสวนสาธารณะขนาดใหญ่ของ กทม. อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชนทุกกลุ่ม
นอกจากนี้ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. และสำนักงานเขต 50 เขต ยังมีแนวทางการบริหารจัดการและดูแลรักษาต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะของ กทม. โดยจัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรรุกขกรรมและการตัดแต่งต้นไม้อย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการฝึกอบรมด้านรุกขกรรม หลักสูตรการตัดแต่งต้นไม้ การจัดทําคู่มือการตัดแต่งต้นไม้ การปรับปรุง MOU การตัดแต่งต้นไม้ตามแนวสายไฟฟ้าร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โครงการจัดทําฐานข้อมูลต้นไม้ การตั้งคณะทํางานศึกษา แนะนำ และกำหนดชนิดพรรณต้นไม้ที่เหมาะสม เติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงประสานความร่วมมือการตัดแต่งต้นไม้ตามแผนการตัดแต่งต้นไม้ประจำปีของแต่ละหน่วยงาน โดยสำรวจตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความปลอดภัยของต้นไม้ใหญ่ การดำเนินการตามแผนตัดแต่งต้นไม้ เช่น การตัดแต่งกิ่งที่หัก หรือฉีกขาด การสางโปร่ง ลดทอนความสูง รวมถึงค้ำยันต้นไม้ใหญ่ให้มีความมั่นคงแข็งแรง ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์พายุฤดูร้อน ฝนตก ลมกระโชกแรง ตลอดจนประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนร่วมสำรวจตรวจสอบต้นไม้ภายในที่พักตนเอง หากพบต้นไม้สุ่มเสี่ยงต่อการโค่นล้มจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง สามารถขอรับบริการตัดและขุดต้นไม้จาก กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้