In Bangkok

รองผู้ว่าฯทวิดาประกาศเอาชนะข้อจำกัด สรุป7ข้อเสนอปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิ



กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯ ทวิดา ประกาศพร้อมเอาชนะข้อจำกัด สร้างความร่วมมือ เสริมความเข้มแข็งระบบบริการปฐมภูมิ7ข้อเสนอ

(9 มิ.ย.65) ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือการขับเคลื่อนแนวทางการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคระดับชาติและโรคอุบัติใหม่ ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการแถลงข่าว นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นางสาวบุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน ร่วมแถลง ณ โรงแรมบัดดี้ โอเรียนทอล ริเวอร์ไซด์ จ.นนทบุรี 

ตามที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดเชื้อโรคระดับชาติและโรคอุบัติใหม่ ส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม และนำไปสู่การยกระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีความจำเป็นและการพัฒนาคุณภาพการรักษาพยาบาลให้ประชาชนมีความปลอดภัยและความมั่นคงด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน โดยยึดการบริการประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยที่ประชุมได้สรุปข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในกรุงเทพมหานคร 7 ข้อ ประกอบด้วย
1.ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจัดตั้ง System Manager ด้านปฐมภูมิระดับเขต กลุ่มเขต และระดับกรุงเทพมหานคร อย่างมีส่วนร่วมจากภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน
2.คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กรมบัญชีกลาง ร่วมสนับสนุนงบประมาณ ออกแบบ ระบบการเงินที่ส่งเสริมศักยภาพของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ โดยมุ่งเน้นบริการ Health Promotion Prevention และเสนอรูปแบบการจ่ายเงิน เพื่อให้บริการอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
3.ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในทุกเครือข่ายของการบริการปฐมภูมิและสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร
4.กรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพ Electronic  Health Information และส่งเสริมการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อนำมาสู่การพัฒนาบริการและส่งเสริมการดูแลตัวเองของประชาชน
5.สำนักอนามัยพัฒนาระบบอาสาสมัครสาธารณสุข ให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และยั่งยืน โดยอาศัยทรัพยากรจากกระทรวงสาธารณสุข
6.กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการSand Box ของระบบบริการปฐมภูมิภายใน 3 เดือนและขยายผลให้ครอบคลุมภายในระยะเวลา 1 ปี โดยมีรูปแบบที่คำนึงถึงบริบทเฉพาะของแต่ละพื้นที่
7.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ร่วมกับกรุงเทพมหานคร จัดตั้งกลไกความร่วมมือทางวิชาการเพื่อสนับสนุนกลไกการดำเนินงานตามแนวทางปฏิรูป อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนแผนการปฏิรูปนี้อย่างเป็นรูปธรรม

รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เชื่อว่าทุกคนต่างรู้สึกเช่นเดียวกันว่าสถานการณ์โควิด-19 ได้ทำร้ายทั้งคนที่เจ็บป่วย เสียชีวิตและทำร้ายจิตใจของพวกเราในฐานะคนดูแลเมือง รวมถึงบุคลากรในวงการสาธารณสุขด้วย ดังนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์) จึงมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ความต้องการของประชาชนที่สะท้อนจากสถานการณ์ที่ผ่านมา และข้อจำกัดซึ่งข้าราชการทั้งหลายทราบดีว่าปัญหาเหล่านี้คืออะไร ต้องได้รับการแก้ไข 

ทั้งนี้ ข้อจำกัดของกรุงเทพมหานครในเรื่องของการดูแลและบริการประชาชน คือการที่ไม่สามารถเชื่อมต่อระบบสาธารณสุขได้อย่างราบรื่นนัก ยังผลให้เกิดความเสียหายต่อภาคประชาชน รวมถึงผลกระทบในเรื่องของเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย ในฐานะผู้ปฏิบัติซึ่งมีพันธกิจสำคัญคือการดูแลสุขภาพประชาชนตั้งแต่ต้นทาง จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่ผ่านมาทำให้ต้องกลับมาพิจารณาอีกครั้งว่าข้อจำกัดของตนเองอยู่ที่ไหน อัตรากำลัง มาตรฐานการรักษาพยาบาลเป็นอย่างไร รวมถึงต้องกลับมาพัฒนามาตรฐานของเราเพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าพวกเราเป็นหน่วยปฏิบัติที่อยู่ใกล้บ้าน ใกล้ตัวและใกล้ใจประชาชนมากที่สุด นอกจากนี้ การดูแลสุขภาพที่ดีตั้งแต่ต้นไม่ใช่เฉพาะการให้ประชาชนได้รู้จักดูแลตนเองเท่านั้นแต่ยังหมายรวมถึงการพัฒนาให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ได้ดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนได้อุ่นใจว่ายังมีคนอยู่เคียงข้างในยามเจ็บป่วย หรือคอยให้คำปรึกษา

คำมั่นจากโรงพยาบาลเครือข่ายพยาบาลว่าจะช่วยกันอุดช่องว่างของระบบส่งต่อ เพื่อทำให้ประชาชนได้มีชีวิตที่ดีขึ้น  ไม่ว่าจะด้วยการนำของกรุงเทพมหานคร หรือเครือข่ายสาธารณสุขเอง ถือว่าเป็น “ความร่วมมือ” หลายครั้งที่เรามีการถอดบทเรียนแต่ไม่ได้นำมาทำ ครั้งนี้บทเรียนที่เราถอดว่าช่องว่างหรือข้อบกพร่องเราอยู่ตรงไหน แล้วเรายอมรับ และนำมาทำ ช่วยเหลือกันโดยเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง จะทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี มีความสุข และการที่ประชาชนมีความสุข การพัฒนาประเทศก็จะเกิดความยั่งยืน ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรในอนาคตอีก การเรียนรู้ถึงความร่วมมือที่จะเอาชนะข้อจำกัดและไม่โทษกันเอง รับผิดชอบร่วมกัน จะสามารถให้เครือข่ายสุขภาพปฐมภูมิครบวงจรของคนกรุงเทพมหานครเกิดขึ้นได้