EDU & Tech-Innovation

เมืองพัทยาหนุนหลักสูตรเรียนภาพยนตร์ สำหรับโรงเรียนในสังกัดพัทยา



พัทยา-เมืองพัทยาจับมือ อพท. หารือ 11 รร.พัทยาเตรียมความพร้อมโครงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านภาพยนตร์ สำหรับโรงเรียนในสังกัดพัทยา ขับเคลื่อนสู่เมืองสร้างสรรค์ด้านภาพยนตร์ City of Film ของ UNESCO

ตามที่เมืองพัทยาร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ดำเนินการผลักดันเมืองพัทยาขับเคลื่อนสู่เมืองสร้างสรรค์ด้านภาพยนตร์ City of Film ของ UNESCO ภายใต้แผนขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ด้านภาพยนตร์ พ.ศ.2565-2570 นั้น

วันที่ 22 มิ.ย.65 ที่ห้องประชุมศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ดร.ศิวัช บุญเกิด รองปลัดเมืองพัทยา นายสุรัตน์ เทพฉายโต ผู้อำนวยการสำนักการท่องเที่ยวและกีฬาเมืองพัทยา ได้รับมอบหมายจากนายกฤษณะ บุญสวัสดิ์ รองนายกเมืองพัทยา ให้เป็นประธานการประชุมซักซ้อมความเข้าใจโครงการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านภาพยนตร์ สำหรับโรงเรียนในสังกัดเมืองพัทยา 

ทั้งนี้ เพื่อให้เมืองพัทยามีรูปแบบและหลักสูตรการเรียนการสอนด้านภาพยนตร์ที่มีคุณภาพและให้บุคคลากรและนักเรียนในสังกัดเมืองพัทยาได้รับการพัฒนาความรู้ ทักษะและเจตคติที่ดีในการเป็นพลเมืองของเมืองสร้างสรรค์ด้านภาพยนตร์ ที่เมืองพัทยาได้ร่วมกับ อพท.ดำเนินการมา

โดยร่วมกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) สำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 ที่มี นายเฉลิมพล แย้มเกสร เจ้าหน้าที่พัฒนาพิเศษ สำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 (อพท.3) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ และตัวแทนจากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) และผู้อำนวยการโรงเรียนในสังกัดเมืองพัทยาทั้ง 11 โรงเรียนเข้าร่วมประชุมหารือ

ด้าน น.ส.ชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมประชุมวิดีโอคอนเฟอร์เรนท์ร่วมกับคณะเมืองพัทยาและ อพท. ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตัวแทนหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้นำเสนอหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาภาพยนตร์ ที่จะมีกิจกรรมปลูกฝังเยาวชนให้รู้จักภาพยนตร์ ทั้งกิจกรรมภาพยนตร์ในโครงการโรงหนังโรงเรียน 

ที่จะมีการคัดเลือกภาพยนตร์ให้เหมาะแก่การเรียนรู้ของนักเรียนในระดับชั้นต่างๆ โดยแบ่งโปรแกรมภาพยนตร์ออกเป็น 5 ช่วงระดับการศึกษา ได้แก่ ระดับปฐมวัย (อนุบาล 1-3 ),ระดับประถมศึกษาตอนตัน (ป.1-3), ระดับประถมศึกษาตอนปลาย (ป.4-6), ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-3) และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-6)

ภาพยนตร์เพื่อการเรียนรู้ประสบการณ์นอกห้องเรียน การนำภาพยนตร์มาใช้เป็นสื่อเพื่อการเรียนรู้ เพิ่มพูนประสบการณ์ใหม่ๆ ในโลกกว้างนอกห้องเรียน ผ่านการชมภาพยนตร์เรื่องต่างๆ นำประเด็นในภาพยนตร์ที่ชมโดยชวนเด็กนักเรียนมาเปิดประเด็นพูดคุย ถึงมุมมองความคิดต่อเรื่องราวต่างๆ กิจกรรมโรงหนังโรงเรียน และกิจกรรมโรงหนังโรงเรียนบนรถโรงหนัง

ในการประชุมได้หารือรายละเอียดการดำเนินการว่าจะจัดทำให้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาเลือกเสรีสำหรับ ม.ปลาย หรือปรับมาเป็น ม.ต้น เป็นรายวิชาเพิ่มเติม ชุมนุม หรือกิจกรรมโครงงาน ที่มีความเหมาะสมกับการเรียนการสอนของเมืองพัทยาซึ่งต้องมีการพูดคุยความชัดเจนในประเด็นดังกล่าวก่อนดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพราะถ้าหากจะเริ่มนับหนึ่งเรื่องนี้แล้วต้องทำงานอย่างเป็นระบบ