Health & Beauty
โรคฝีดาษลิงกับสถานการณ์โดยภาพรวม โดยรศ.นพ.สุมนัส บุณยะรัตเวช
กรงเทพฯ- โรคฝีดาษลิงกับสถานการณ์โดยรวมโดย รศ.นพ.สุมนัส บุณยะรัตเวช กรรมการกลาง และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยและรศ.นพ.จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ
ความจริงตัวโรคฝีดาษและความรู้เกี่ยวกับต่อโรคฝีดาษ มักจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ เพราะมันเป็นโรคเก่าแต่มีการอุบัติใหม่ โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มไวรัสพอกซ์ (Poxvirus) ซึ่งเป็นไวรัสในกลุ่มเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษคน (smallpox หรือ ไข้ทรพิษ) โดยมีรายงานการติดเชื้อครั้งแรกในลิงที่ใช้เป็นสัตว์ทดลองในปี พ.ศ. 2501 จึงเรียกว่า ฝีดาษลิง แต่แท้จริงแล้วสัตว์ที่เป็นรังโรค คือสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนู จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2513 จึงพบรายงานการติดเชื้อครั้งแรกในคน
จากปัจจุบันมีผู้ป่วยยืนยันประมาณ 2,103 คน กระจายทั่วโลก ใน 42 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศกลุ่มเสี่ยงในแถบยุโรปและอเมริกา โดยเฉพาะในประเทศสเปน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และโปรตุเกส ที่มีรายงานการระบาดพบจำนวนผู้ติดเชื้อเกิน 20 คน ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการระบาดในขณะนี้โรคฝีดาษลิงเป็นโรคประจำถิ่นในแถบอาฟริกากลางและอาฟริกาตะวันตก โดยพบมีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อประปราย รวมถึงนอกถิ่นการระบาดจากการเดินทางไปในถิ่นระบาด ซึ่งการระบาดระลอกนี้เริ่มในช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2565 โดยพบผู้ป่วยในหลายประเทศโดยเฉพาะในทวีปยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย โดยพบในกลุ่มชายรักชายซี่งสันนิษฐานว่าเกิดจากการรวมตัวและมีกิจกรรมใกล้ชิดในช่วงเทศกาลไพรด์ (Pride month) ของกลุ่มหลากหลายทางเพศ (LGBTQ)
รศ.นพ.สุมนัส บุณยะรัตเวช กรรมการกลาง และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวถึง อาการของโรคฝีดาษลิง จัดแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
1) ระยะฟักตัว เป็นระยะที่ไวรัสทำการฟักตัวในร่างกาย โดยไม่มีอาการ และไม่ติดต่อสู่ผู้อื่น โดยทั่วไปเป็นระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์แต่อาจยาวถึง 3 สัปดาห์ได้หลังสัมผัสเชื้อ
2) ระยะก่อนออกผื่น เป็นระยะที่ผู้ป่วยมีอาการไข้ เมื่อยตัว ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต โดยผู้ป่วยอาจสามารถแพร่เชื้อได้ทางละอองฝอยในระยะนี้
3) ระยะออกผื่น หลังจากมีไข้ 1- 3 วันจะพบผื่นที่ใบหน้า ลำตัว และกระจายไปแขนขา โดยสามารถพบที่ฝ่ามือมือฝ่าเท้าได้ โดยผื่นจะมีลักษณะเป็นตุ่มขนาดเล็ก จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใสและแตกออก จนตกสะเก็ดและหายไปภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยอาจพบการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมในช่วงที่เป็นตุ่มน้ำใสทำให้เห็นเป็นหนองในตุ่มน้ำใส โดยผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้ในระยะนี้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งอย่างใกล้ชิดเป็นระยะเวลาหลายนาทีจนถึงชั่วโมง และอาจเกิดจากการสัมผัสสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อได้
ภาวะแทรกซ้อน โดยทั่วไปอาการมักไม่รุนแรงและหายได้เอง ยกเว้นในผู้ที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง อาจพบภาวะแทรกซ้อนและเสียชีวิตได้ร้อยละ 1 (สายพันธุ์อาฟริกาตะวันตก ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีการระบาดในขณะนี้)
รศ.นพ.จักรพงษ์ บรูมินเหนทร์ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ กล่าวว่า หากมีอาการที่สงสัยโรคฝีดาษลิง ควรรีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติความเสี่ยง แพทย์จะพิจารณาทำการตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสจากผื่นหรือตุ่มหนอง โดยการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธี PCR สำหรับการรักษาโดยใช้ยาในปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสที่ใช้รักษาผีดาษลิงโดยตรง แต่มียาที่ชื่อ tecovirimat ซึ่งมีใช้รักษาฝีดาษคน ซึ่งมีข้อมูลในสัตว์ทดลองว่าอาจใช่รักษาโรคฝีดาษลิงได้ แต่ยังไม่มียาชนิดนี้อยู่ในประเทศไทย นอกจากนี้อาจพิจารณาให้วัคซีนแก่ผู้ที่ไม่เคยได้รับหรือรับวัคซีนก่อนหน้าเกิน 3 ปี โดยสามารถฉีดวัคซีนภายใน 4 วัน (อาจให้ได้จนถึง 14 วัน) หลังสัมผัสเชื้อ เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันและลดความรุนแรงของโรค
สำหรับการป้องกัน 1.ควรหลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีความเสี่ยงหรือผู้ที่มีผื่น โดยเฉพาะในช่วงที่การแตกของแผลและมีสารคัดหลั่งจำนวนมาก ควรแยกและทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ รวมถึงการหลีกเลี่ยงสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์รังโรคที่มีอาการ 2.วัคซีน มีสองชนิด ได้แก่ วัคซีนเชื้อเป็น (ACAM2000) ซึ่งบรรจุเชื้อเดียวกับที่ใช้ในการปลูกฝีในประเทศไทย (ยุติการปลูกฝีหลัง พ.ศ. 2517) โดยพบว่าอาจสามารถป้องกันการติดเชื้อฝีดาษลิงได้ร้อยละ 85 (ควรรอการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป) และวัคซีนเชื้อตาย (JYNNEOS) ซึ่งต้องฉีด 2 เข็มห่างกัน 4 สัปดาห์ โดยในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนทั้งสองชนิดในประเทศไทยและยังแนะนำวัคซีนเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการหรือทำวิจัยกับสัตว์ทดลอง