EDU Research & ESG

มรภ.สุราษฎร ร่วมอำเภอไชยายกระดับ ตลาดข้าวหอมไชยา



สุราษฏร์ธานี-นายธิติ พานวัน อาจารย์ประจำสาขาวิชานวัตกรรมสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่าโครงการจัดตั้งกองบริการวิชาการ ได้ส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยาโดยร่วมกับอำเภอไชยา ในการปลูกและอนุรักษ์ข้าวหอมไชยา จากนั้นได้นำผลผลิตจากข้าวมาส่งเสริมการตลาดโดยสร้างจุดขายผ่านเรื่องเล่าข้าวหอมไชยา ที่มีมานานกว่า 100 ปี มีการเพิ่มมูลค่าข้าวโดยนำวัสดุจากข้าวแปรรูปเป็นขนมทองม้วน ไข่เค็มข้าวหอมไชยา น้ำข้าวกล้องงอกและน้ำหม้อจากข้าวหอมไชยา ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการยกระดับเป็นผลิตภัณฑ์ประจำอำเภอไชยา ตามเกณฑ์มาตรฐานของผลิตภัณฑ์ชุมชน และการออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น มีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการสร้างตลาดและวิสาหกิจชุมชน E – Commerce การทำการตลาดชุมชนและการเข้าถึงตลาดสำหรับวิสาหกิจชุมชนด้วย Digital Marketing ทำให้ผลิตภัณฑ์จากข้าวหอมไชยาได้รับความนิยมจากผู้บริโภคสูงขึ้น

นายชวลิต โรจนรัตน์ นายอำเภอไชยา กล่าวว่า ข้าวหอมไชยาเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีมาหลายร้อยปี คู่กับเมืองไชยา ในอดีตไชยาเป็นแหล่งปลูกข้าวที่มีชื่อเสียง การอนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยาให้เป็นข้าวคู่เมืองสุราษฎร์ธานี เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำให้ข้าวหอมไชยาเป็นสินค้า GI มีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และร่วมกับหอการค้าจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในการยกระดับตลาดข้าวหอมไชยา ให้เป็น Mass marketing ที่ต้องการของผู้บริโภคทั่วไป

 นายพูนศักดิ์ สาระคง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา กล่าวว่ากลุ่มมีสินค้าผ่านการจดทะเบียนผลิตภัณฑ์ชุมชน ได้แก่ข้าวหอมไชยาสีแบบดังเดิมและข้าวกล้อง  ขนมทองม้วนที่แปรรูปจากข้าวหอมไชยา ไข่เค็มนาข้าวหอมไชยาจากเป็ดที่เลี้ยงในนาข้าวศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์พันธุ์ข้าวหอมไชยา นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์น้ำข้าวกล้องงอก น้ำหม้อแปรรูปจากข้าวหอมไชยาสำเร็จรูป โจ๊กข้าวหอมไชยา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 กลุ่มได้ยกระดับตลาดข้าวหอมไชยาโดยจัดเปิดตัวสินค้าแปรรูปจากข้าวหอมไชยา ณ ที่ว่าการอำเภอไชยา สินค้าได้รับความสนใจจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็ว และจะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์จากข้าวหอมไชยาไปยังส่วนต่าง ๆ ต่อไป