In Bangkok
กทม.ชงเสนอBKK Food Bank3รูปแบบ เดินหน้าแนวทางดำเนินการใน50เขต

กรุงเทพฯ-ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม.เตรียมนำเสนอ BKK Food Bank 3 รูปแบบ เดินหน้าแนวทางการดำเนินการ BKK Food Bank 50 เขต
(1 ก.ค.65) เวลา 15.30 น. : นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือการจัดทำ Model โครงการ BKK Food Bank โดยมี นางสุธาทิพย์ สนเอี่ยม รองปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานเขตบางขุนเทียน สำนักงานเขตคลองเตย สำนักงานเขตพระนคร ร่วมประชุม ณ ห้องสุทัศน์ ชั้น 2 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร
ซึ่งข้อเสนอแนะและความคิดเห็นจากการประชุมหารือในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอข้อคิดเห็น ปัญหา และอุปสรรคจากการดำเนินโครงการ “BKK Food Bank” ของเขตต้นแบบที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว 3 เขต ได้แก่ เขตบางขุนเทียน เขตพระนคร และเขตคลองเตย โดยสำนักพัฒนาสังคมประเมินผลหารือความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร และมูลนิธิสโกลาร์ส ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) และได้นำเสนอรูปแบบการแจกจ่ายอาหารตามโครงการ “BKK Food Bank” 3 รูปแบบ คือ 1. พื้นที่เป็นสุข โดยอาหารต้องถึงมือผู้รับให้เร็วที่สุด ให้สำนักงานเขตเป็นตัวแทนรับอาหารมาจากผู้ให้ และจัดพื้นที่ส่งมอบ เช่น สำนักงานเขต วัด โรงเรียน ตลาด ชุมชน เพื่อส่งมอบต่อให้ประชาชน 2. ชุมชนเป็นสุข อาหารส่วนเกินปรุงสุกพร้อมทาน เพื่อความปลอดภัยและถูกสุขลักษณะ สร้างความมั่นใจต่อผู้รับ โดยให้ NGOs เช่น มูลนิธิสโกลาร์ส ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) หรือ VV Share เป็นสื่อกลางรับอาหารจากผู้ให้มามอบให้สำนักงานเขตเพื่อส่งมอบให้ประชาชนต่อไป 3. HUB ครัวชุมชน อาหารแห้ง/วัตถุดิบที่สามารถเก็บได้นาน สามารถนำไปต่อยอดครัวชุมชน โดยผู้ให้มอบอาหารและวัตถุดิบมามอบให้สำนักงานเขตเพื่อส่งมอบให้ครัวชุมชนเพื่อปรุงอาหาร หรือมอบให้อาสาสมัครในพื้นที่เพื่อส่งมอบต่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายต่อไป ซึ่งรูปแบบทั้งหมดจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมหัวหน้าหน่วยงานกรุงเทพมหานครในวันที่ 7 ก.ค.65 เพื่อเดินหน้าแนวทางการดำเนินการ BKK Food Bank 50 เขต เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร (food security) ให้แก่ประชาชนในกรุงเทพฯ และสร้างกลไกส่งต่อความช่วยเหลือระหว่างผู้ให้และผู้รับอย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร มีนโยบายพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ส่งต่ออาหารส่วนเกินให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งได้มีการเปิดกิจกรรมนำร่องโครงการ Food Bank ณ สำนักงานเขตบางขุนเทียน เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมาโดยระยะแรกสำนักงานเขตจะเป็นตัวกลางในการส่งมอบอาหาร และระยะที่สองจะเป็นการให้ภาคเอกชนหรือประชาชนได้ส่งมอบให้กับชุมชนโดยตรงเลยไม่ต้องผ่านสำนักงานเขต เพื่อแก้ปัญหาอาหารเหลือทิ้ง (food waste) ที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ โดยร่วมมือกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานที่ดำเนินการอยู่เดิม รวบรวมส่งต่อวัตถุดิบ และอาหารส่วนเกิน (food surplus) จากผู้ประกอบการและผู้ที่ต้องการส่งต่อความช่วยเหลือ (ผู้ให้) เช่น ผู้ประกอบการโรงแรม ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาด คอมมิวนิตี้มอลล์ และศูนย์อาหาร (food court) สู่ผู้ที่ต้องการ เช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนจนเมือง หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติและสาธารณภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน