In Global

3กุนซือดังวิเคราะห์บทบาท 'จีน-สหรัฐฯ' กับท่าที'การจัดระเบียบโลกใหม่'



กรุงเทพฯ-ม.ธุรกิจบัญฑิตย์จับมือพันธมิตรจัดสัมมนา “47ปีความสัมพันธ์ไทย-จีน กับระเบียบโลกใหม่” เชิญ 3กุนซือดังวิเคราะห์ท่าทีและบทบาทจีน-สหรัฐในเวทีโลกกับ“การจัดระเบียบโลกใหม่” ชี้ตรงกันประชุมเอเปคไทยเอาอยู่ ขณะที่การจัดระเบียบโลกใหม่ ให้รออีกครึ่งศตวรรษ

เมื่อ12 กรกฎาคม 2565 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตร่วมกับบางกอกทูเดย์และThe leader Asia จัดสัมมนา “47ปีความสัมพันธ์ไทย-จีน กับระเบียบโลกใหม่ ณ ห้องประชุม สัจจา เกตุทัต อาคารอธิการบดีชั้น 1 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต โดยได้เชิญวิทยากรที่มีความรอบรู้เรื่องจีนมาวิเคราะห์ข้อมูลท่าทีและทิศทางของประเทศจีนที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย อาทิ ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน,ดร.ธารากร วุฒิสถิรกุล รองผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีนและดร.ภูมิพัฒน์ พงศ์พฤฒิกุล ผู้เชียวชาญด้านสายงานวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยมีนายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ บรรณาธิการ The Leader Asia เป็นผู้ดำเนินรายการ

ในการสัมมนาครั้งนี้ นายชัยวัฒน์ ได้ตั้งประเด็นวิเคราะห์ได้ 4 ประเด็นใหญ่ๆ คือ การที่รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศมหาอำนาจ “จีน-สหรัฐ”มาเยือนไทยในเวลาใกล้เคียงกันบ่งบอกถึงนัยยะอะไรบ้าง, การประชุมG20ที่บาหลี อินโดนีเซียมีผลต่อการประชุมเอเปคในไทยหรือไม่,การจัดระเบียบโลกใหม่จะมีผลกระทบอย่างไรและจะดีขึ้นหรือเลวลง และสุดท้ายบทบาทไทยในการประชุมเอเปคในปลายปีนี้เป็นอย่างไร ซึ่งทั้ง4 ประเด็นนี้วิทยากรแต่ละคนได้วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในมุมที่แตกต่างกันดังนี้

ดร.ไพจิตร ให้มุมมองว่า มองในมุมทั่วไป เป็นเพียงการเดินทางมาเพื่อตรวจเช็คล่วงหน้าของการจัดงานประชุมเอเปค ที่จะจัดขึ้นในไทยระหว่าง 18-19 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งผู้นำทั้ง 2 ประเทศจะเดินทางเข้าร่วมประชุมด้วย แต่ถ้าจะมองให้ลึกน่าจะมีนัยยะไม่น้อย โดยเฉพาะทั้ง 2 ประเทศกำลังหาแนวร่วมสนับสนุน อย่างสหรัฐฯ ได้พยายามสร้างกลุ่มที่เรียกว่า “อินโด-แปซิฟิก”และมีการผลักดันอย่างจริง ซึ่งต่างฝ่ายก็พยายามหาแนวร่วมให้มากที่สุด

การประชุมG20 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ก็ถือเป็นภาพหนึ่งที่มองได้ว่ามีการแบ่งขั้วกันชัดเจนมากขึ้น และถือว่าเป็นความล้มเหลวของอินโดนีเซียในการจัดงานครั้งนี้ และคิดว่า ในการประชุมเอเปคที่จะมีขึ้นในไทย ถือเป็นเวทีสำคัญมาก สำหรับปัญหาแบ่งแยกตรงนี้ ดังนั้นรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยต้องทำงานหนักเพื่อให้ผลออกมาเป็นบวก สิ่งสำคัญที่รัฐบาลไทยต้องทำก็คือ “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ของประเทศต่างๆ ที่จะเข้าร่วมประชุม  คิดว่า การหล่อหลอม เอาเรื่องเล็กๆ ไม่ต้องหวังใหญ่ ทำประเด็นที่เห็นแตกต่างกันให้น้อยและหาวิธีให้ประเทศใหญ่อยู่ร่วมกันให้ได้ เพื่อให้ผลออกมาเป็น “บวก”

ดร.ไพจิตร กล่าวต่อไปว่า ส่วนประเด็นการจัดระเบียบโลกใหม่ เริ่มมีมากขึ้น การแบ่งค่ายก็ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งถือว่าอยู่ระหว่างการก่อร่างสร้างตัวของระเบียบโลกใหม่ ส่วนระเบียบโลกเก่า มีสหรัฐฯเป็นมหาอำนาจอยู่เบื้องหลังมาโดยตลอด ส่วนจีนเคยเรียบร้องการจัดระเบียบโลกใหม่ จึนเคยพูดในเวทีโลก และแผนเศรษฐกิจของจีน เริ่มพึ่งพาตัวเอง พึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศมาขึ้น เพราะเศรษฐกิจโลกมีความเปาะบางมาก โลกมีความจำเป็นต้องมาพูดคุยกันจากความเปาะบางนี้ ซึ่งเชื่อว่าจีนอาจมีแนวความคิดเสนอเพื่อให้มีการจัดระเบียบโลกใหม่

ปัจจุบันส่วนแบ่งสกุลเงินหลัก 90%ของโลกยังเป็นเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ส่วนเงินหยวนเพิ่งมากล่าวถึงกันเมื่อไม่นานมานี้ จีนเองก็พยายามผลักดันเงินหยวนเป็นสกุลเงินสากล เพื่อให้ประเทศต่างๆ ใช้เงินหยวนในการแลกเปลี่ยนมากขึ้น เช่น มีเงิน “หยวนดิจิทัล”อย่างต่อเนื่อง และคาดครึ่งศตวรรษ เศรษฐกิจจีนจะใหญ่กว่าสหรัฐฯและ “เงินหยวน” จะมีบทบาทมากขึ้นกลายเป็นเงินสกุลรองของโลกได้ ขณะนี้มีส่วนแบ่งอยู่แค่ 5% เท่านั้น

ที่ผ่านมาไม่มีประเทศไหนออกมาท้าทายสหรัฐฯ แต่คราวนี้มีจีนแสดงจุดยืนท้าทายต่อระเบียบโลกเก่ามากขึ้น จากการสหรัฐฯเลือกปฏิบัติกับประเทศที่ตนได้ประโยชน์เท่านั้น จึงมีการเรียกร้องให้มีการจัดระเบียบโลกใหม่ มีความร่วมมือกันไม่เลือกฝ่ายไม่เลือกกลุ่ม

ด้านดร.ภูมิพัฒน์ มองว่า 2 ประเทศมหาอำนาจ เข้ามาเพียงเพื่อต้องการแสดงซอฟเพาเวอร์กับประเทศไทย สำหรับการประชุม G20 ที่บาหลี ถือว่าล้มเหลว เพราะมีการแบ่งขั้วชัดเจน จึงเป็นโจทก์ใหญ่สำหรับไทยในการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปค ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยต้องทำงานหนัก เพราะความขัดแย่งแบ่งค่ายยังจะเป็นไปอีกนาน ดังนั้นประเด็นที่จะหารือควรหลีกเลี่ยงประเด็นขัดแย้งหรือเห็นต่าง อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ประเทศไทยน่าจะยังควบคุมเกมได้

ส่วนการจัดระเบียบโลกใหม่ ตนมองว่ายังห่างไกล การเรียกร้องการเปลี่ยนแปลง ยังเป็นแค่การเรียกร้อง แต่ยังจะไม่เป็นความจริง และจะยังไม่สิ้นสุดและน่าจะไปอีกไกล วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นหรือไม่ ก็เชื่อว่ายังไม่ใช่ อย่างก็ตาม “จีน”เป็นสังคมนิยม มีการสานต่อนโยบายระหว่างช่วงต่อเป็นอย่างดี หากจีนสามารถทำได้คือ ให้3ประเทศใหญ่ในเอเชียถือสกุลเงิน “หยวน”เป็นเงินหลัก คือ จีน อินเดียและอินโดนีเซีย ถือว่าใหญ่มาก จะทำให้ถ่วงดุลกันได้ใน 2 สกุลเงินของ2ประเทศมหาอำนาจ

ส่วนดร.ธารากร มองว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนและสหรัฐฯเยือนไทยนั้น น่าจะบังเอิญมากว่าเพราะก่อนหน้านี้ มีการประชุมG20ที่อินโดนีเซียน พอเสร็จภารกิจแล้วก็ถือโอกาสเยือนไทย ถือว่าเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่สำคัญของอาเซียนและมีศักยภาพเป็น “ฮับอาเซียน”ได้ ส่วนการประชุมG20ที่อินโดนีเซียตนมองว่า “ล้มเหลว” แต่ถ้ามองต่อถึงไทยในการประชุมเอเปคปลายปีนี้ เชื่อว่าไทย “เอาอยู่” หากจีน-สหรัฐฯ เรื่องการค้าระหว่างกันพูดถึงน้อยลง ความมั่นคงในภูมิภาคน่าจะมีข้อตกลงกันได้บ้าง เชื่อว่า เราจัดประชุมเอเปคน่าจะไม่เห็นประชุมG20ที่บาหลี ผู้นำ2ประเทศมหาอำนาจน่าจะได้มีการพูดคุยกันมากขึ้น

ดร.ธารากร กล่าวถึงการจัดระเบียบโลกใหม่ว่า แนวคิดนี้เริ่มมาตั้งแต่ ท่านเหมา เจ๋อตงแล้ว แต่จะทำให้ภูมิภาคสงบได้ ต้องทำอีกหลายอย่าง ทำข้างนอกให้เป็นเนื้อเดียวกัน ส่วนข้างในจะยังมีความขัดแย้งอยู่บ้างก็ตาม การจัดระเบียบโลกที่ผ่านเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่2 โดยมีสหรัฐฯเป็นพี่ใหญ่ควบคุมทั้งโลก ที่ผ่านจีนมีการปฏิวัติตัวเองมาแล้ว 3 ครั้งมีฐานที่มั่งคง แต่เศรษฐกิจยังอ่อนแอ ดังนั้นการจะทำให้ “เงินหยวน” เป็นศูนย์กลางนั้น คงรอไปอีกระยะหนึ่ง