In Bangkok
กทม.เข้มงวดแก้ไขปัญหาลักลอบทิ้งขยะ ตรวจสอบพื้นที่รกร้างป้องกันนำขยะมาทิ้ง

กรุงเทพฯ-สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.เข้มงวดแก้ปัญหาลักลอบทิ้งขยะ - ตรวจสอบพื้นที่รกร้างป้องกันการแปลงสภาพที่ดินเป็นที่ทิ้งขยะ
นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวถึงแนวทางการป้องกันการลักลอบทิ้งขยะในพื้นที่รกร้างว่า สำนักสิ่งแวดล้อม ได้ประสานความร่วมมือสำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบการแปลงสภาพที่ดินเป็นที่ทิ้งขยะโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นการกระทำผิดตามกฎหมาย โดยที่ผ่านมา กทม.ยังไม่มีการออกใบอนุญาตให้เอกชนดำเนินการดังกล่าวเป็นธุรกิจ หรือโดยได้รับประโยชน์ตอบแทนด้วยการคิดค่าบริการ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ดังนั้น กรณีที่มีเอกชนลักลอบเก็บ ขน และนำขยะมาทิ้งในพื้นที่เอกชน จึงถือว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแปลงสภาพที่ดินเป็นที่ทิ้งขยะโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงได้ประสานสำนักงานเขตกำกับ ดูแล และติดตามตรวจสอบพื้นที่รกร้างไม่ให้มีการลักลอบทิ้งขยะ หากพบพื้นที่รกร้างที่เป็นของเอกชนจะประสานเจ้าของพื้นที่ปิดล้อมรั้วให้มิดชิด เพื่อป้องกันการลักลอบทิ้งขยะ พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมสอดส่องดูแล และแจ้งเบาะแสการกระทำผิดผ่านช่องทางของสำนักงานเขต เพื่อจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่ที่เป็นที่ทิ้งขยะโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเจ้าของพื้นที่จะมีความผิดตาม พ.รบ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 มาตรา 32 (2) ปล่อยปละละเลยให้มีสิ่งปฏิกูล หรือขยะ ในที่ดินของตนในสภาพที่ประชาชนอาจได้เห็นจากพื้นที่สาธารณะ และต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 54 นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ยังได้จัดรถเก็บขนมูลฝอยสำหรับบริการเก็บขยะก่อสร้าง ขยะชิ้นใหญ่ ขยะกิ่งไม้ สำหรับบ้านเรือนที่มีการซ่อมแซมบ้าน ตัดกิ่งไม้ หรือเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ โดยจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นครั้งคราว จำนวน 150 บาท/ลูกบาศก์เมตรเท่านั้น โดยแจ้งที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตพื้นที่ที่บ้านเรือนนั้นตั้งอยู่ ทั้งนี้ ขยะก่อสร้าง เช่น คอนกรีต อิฐ หิน สามารถส่งให้โรงงานกำจัดและแปรรูปวัสดุก่อสร้างที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช นำไปจัดการแยกย่อยนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้ เพื่อป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการจัดการขยะไม่ถูกสุขลักษณะ ลดโอกาสเกิดเหตุรำคาญ และส่งเสริมให้พื้นที่กรุงเทพฯ มีความสะอาดเรียบร้อย
นายอนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการเขตสายไหม กทม. กล่าวกรณีประชาชนที่พักอาศัยในซอยจตุโชติ 17 แขวงออเงิน เขตสายไหม ร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นขยะมูลฝอยและเกรงเกิดเหตุเพลิงไหม้กองขยะว่า สำนักงานเขตสายไหม ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจสอบในซอยจตุโชติ 17 แขวงออเงิน พบการทิ้งขยะในบ่อน้ำ และผู้ที่เตรียมจะนำขยะมาทิ้งอีก 2 ราย จึงได้แจ้งให้งดเว้นการทิ้งขยะในบริเวณดังกล่าวและแจ้งให้ทราบถึงปัญหาความเดือดร้อนที่ประชาชนใกล้เคียงได้รับ นอกจากนั้น ยังให้นำขยะไปทิ้งที่ศูนย์กำจัดขยะสายไหม ถ.สุขาภิบาล 5 พร้อมเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามระเบียบ ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจกวดขันเฝ้าระวังไม่ให้มีการทิ้งขยะในบริเวณดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
นายพงษ์จักรินทร์ ถาวรพงษ์ ผู้อำนวยการเขตบางขุนเทียน กทม. กล่าวถึงปัญหาการลักลอบทิ้งขยะในซอยอนามัยงามเจริญ 41 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียนว่า สำนักงานเขตบางขุนเทียน ได้ดำเนินการแก้ไขการลักลอบทิ้งขยะบริเวณดังกล่าว โดยร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลท่าข้าม เพื่อให้ดำเนินคดีกับเจ้าของที่ดินตามมาตรา 19 และมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ ได้กำชับเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจตรา เฝ้าระวัง และกวดขันไม่ให้มีการลักลอบทิ้งขยะในบริเวณดังกล่าวอีกต่อไป