EDU Research & ESG
'ดิจิทัล ดิสรัปชั่น'เป็นตัวเร่งภาคการศึกษา จับมือข้ามทวีปปั้นคนป้อนธุรกิจยุคใหม่
กรุงเทพฯ-เว็บไซต์นิตยสารฟอร์บส เผยแพร่บทความเรื่อง Five Tech Trends That Will Impact Businesses In 2022 And Beyond ระบุ 5 แนวโน้มในอนาคตทางด้านเทคโนโลยีที่จะสร้างผลกระทบต่อธุรกิจ ขณะที่ก่อนหน้านี้ก็มี “การส่งสัญญาณ” จากเวทีประชุมระดับโลก World Economic Forum คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ปี 2020 ว่า ภายในปี 2025 บริษัททั่วโลกจะมีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีเกือบ 100 ล้านตำแหน่ง โดยแรงงานยุคใหม่เหล่านี้จะกระจายอยู่ในแผนกต่างๆ ที่ไม่ใช่จำกัดอยู่แต่แผนกไอทีอีกต่อไป ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวสร้างความ “ท้าทาย” ให้กับภาคการศึกษา ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในสาขาวิชาต่างๆ ที่จะต้อง “ผสมผสาน” ทักษะด้านเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจต่างๆ อีกทั้งตอบรับเทรนด์โลกเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่อาจรวมถึงการปั้นพ่อมดไอทีหรือพ่อมดโซเชียลรุ่นใหม่ๆ ออกมาต่อยอดกระแสการเติบโตของวงการสตาร์ทอัพ ล่าสุดวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผนึกสถาบันฝรั่งเศส รับการเปลี่ยนแปลงตอบโจทย์ธุรกิจยุคใหม่พร้อมเปิดเวทีเสวนากับหัวข้อ Technology Trends for Business and Beyond ในงานแถลงข่าวเปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจและเทคโนโลยี (หลักสูตรนานาชาติ) ซึ่งเป็นหลักสูตร 2 ปริญญากับการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนมุมมองกับเทรนด์การพัฒนาองค์ความรู้ตอบโจทย์ สร้างบัณฑิตสู่โลกการทำงานจริงและการเป็นเจ้าของธุรกิจ
ศิลปากร ผนึกสถาบันดังฝรั่งเศสรับโจทย์ธุรกิจยุคใหม่
ผศ.ดร. สมพิศ ขัตติยพิกุล คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดเผยว่า ภาคการศึกษา กำลังเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญจากความเปลี่ยนแปลงในบริบททั้งสังคม เศรษฐกิจ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมทั้งกระแสของ Digital Disruption ที่ภาคธุรกิจประยุกต์การใช้เทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนและสามารถจัดเก็บบริหารจัดการข้อมูล (Data Scientist) รวมถึงการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเพิ่มศักยภาพในการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เป็นต้น ดังนั้น สถาบันการศึกษาต้องมีการออกแบบและพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อประโยชน์ทั้งกับตัวนักศึกษาในการเตรียมความพร้อม และเพิ่มโอกาสเข้าสู่ตลาดแรงงานยุคใหม่ที่ไอทีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ตอบสนองความต้องการในภาคธุรกิจ/อุตสาหกรรมสำหรับบุคลากรที่มีทักษะมากกว่า 1 ด้าน รองรับการปั้นผู้ประกอบการยุคใหม่ ตลอดจนตอบโจทย์และรองรับการแข่งขันทางธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ล่าสุด วิทยาลัยนานาชาติ ม.ศิลปากร เปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาธุรกิจและเทคโนโลยี) โดยความร่วมมือระหว่าง 2 สถาบัน 3 คณะวิชา ประกอบด้วย วิทยาลัยนานาชาติ คณะวิทยาการจัดการ และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ม.ศิลปากร ร่วมกับ Paris School of Technology and Business (PST&B) สาธารณรัฐฝรั่งเศส พัฒนาหลักสูตร และจัดการเรียนการสอนร่วมกันด้านการจัดการธุรกิจและเทคโนโลยี เป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ ระยะเวลา 3 ปี โดยช่วง 2 ปีแรกเรียนในประเทศไทย และปีที่ 3 เรียนที่ PST&B ประเทศฝรั่งเศสพร้อมโอกาสฝึกงาน และได้รับปริญญาตรี 2 ใบจากทั้ง 2 สถาบัน
ดร. อาร์มอง แดร์คี (Dr. Armand Derhy) ผู้อำนวยการ และผู้ก่อตั้ง Paris School of Technology and Business (PSTB) สถาบันการศึกษาในเครือข่ายของ Galileo Global Education ผู้นำสถาบันอุดมศึกษาในยุโรป ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาในเครือข่ายมากกว่า 55 สถาบัน 86 วิทยาเขต ใน 13 ประเทศ กล่าวว่า ในบทบาทของสถาบันการศึกษา มีพันธกิจในการให้ความรู้และอบรมผู้นำในอนาคต และมีพันธกิจผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ที่เป็น Talent ป้อนให้กับองค์กรต่างๆ เพื่อฝ่าทะลายความท้าทายจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ในยุคที่เทคโนโลยีเข้าไปผสานอยู่ในแทบทุกเซคเตอร์ รวมถึงการเงิน การตลาด
ทั้งนี้ มีรายงานจัดทำโดย McKinsey Global Institute (MGI) เกี่ยวกับ “ทักษะ” ที่เป็นที่ต้องการของตลาดงานในอนาคต โดยจากการสอบถามบริษัทต่างๆ ถึง “next change” ขององค์กร และทักษะที่ต้องการให้มีการเตรียมพร้อม พบว่าบริษัทต่างๆ คาดหวังถึงทักษะด้านเทคโนโลยี (Technological skills) เป็นลำดับแรก โดยพบว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นถึง 60% ภายในปี 2030
“หลักสูตรนี้มีความพร้อมในสร้างบุคลากรที่มีความสามารถและชุดทักษะ ที่ตอบโจทย์ธุรกิจยุคใหม่เข้าสู่โลกการทำงานยุค disruptive business ปัจจุบันบริษัททั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาการสรรหาคนเก่งรุ่นใหม่ (new talent) ที่มีทักษะความรู้ทั้งด้านเทคโนโลยีและธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทในฝรั่งเศส คาดหวังการจ้างบุคลากรด้าน Cyber Security ไว้ประมาณ 15,000 ตำแหน่ง แต่กลับมีไม่เพียงพอ หรือยุโรป ต้องการจ้างงานถึงหลักหมื่นตำแหน่งในสาขาที่เกี่ยวกับเมตาเวิร์ส เป็นต้น” ดร.อาร์มอง เผย
อีกทั้งรูปแบบหลักสูตรที่ต้องไปเรียนและฝึกงานที่ประเทศฝรั่งเศส 1 ปี น่าจะมีส่วนช่วยเพิ่ม “สัดส่วน” นักศึกษาไทยที่ออกไปทำงานต่างประเทศมากขึ้น จากปัจจุบันมีเพียง 1% น้อยกว่านักศึกษาชาวฝรั่งเศส จีน หรือบางประเทศอื่นๆ
5 เทรนด์เทคโนโลยีธุรกิจที่ห้ามตกขบวน
จากเวทีเสวนาในหัวข้อ Technology Trends for Business and Beyond ยังมีการแบ่งปันมุมมองทั้งในฝั่งภาคการศึกษา และความต้องการบุคลากรเพื่อป้อนธุรกิจยุคใหม่จากองค์กรใหญ่
ดร.เฉลิมพร สิริวิชัย รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติ ม.ศิลปากร กล่าวว่า จากบทความเของฟอร์บส เมื่อเร็วๆ นี้ ระบุถึงแนวโน้มในอนาคตทางด้านเทคโนโลยีที่จะสร้างผลกระทบต่อธุรกิจ 5 เทคโนโลยี ที่ปัจจุบันเริ่มเห็นได้อย่างชัดเจน และขยับเข้ามาใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับประชากรโลกผ่านกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันเทคโนโลยีดังกล่าว ได้แก่ 1.Continuous Rise Of AI เทคโนโลยีประดิษฐ์จะเริ่มเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเห็นได้ชัดขึ้นจากกระแสอี-คอมเมิร์ซ ที่มีการนำ AI มาช่วยอำนวยความสะดวก 2.Security and Privacy ความสำคัญเรื่องการปกป้องข้อมูลที่ต้องมีความปลอดภัย 3.The Rise of Metaverse การขยายตัวของเมตาเวิร์ส จากแรงขับเคลื่อนของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ 4.Adoption of Blockchain Technology การใช้เทคโนโลยีด้านบล็อกเชน โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น ปัจจุบันเป็นประเทศที่ยอมรับการใช้ NFT เป็นอันดับ 1 ของโลก และ 5.More Permanent Adjustments To Hybrid Workspaces เทรนด์ของการทำงานที่พนักงานสามารถเลือกได้ทั้งจากออฟฟิศ บ้าน หรือที่ใดก็ได้ ซึ่ข้อนี้มีปัจจัยผลักดันจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา
“เป้าหมายของความร่วมมือครั้งนี้นอกจากผลิตคนเพื่อป้อนให้กับธุรกิจทั่วไปแล้ว ยังมุ่งหวังสร้างให้เกิดผู้ประกอบการอย่าง มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก หรือบิล เกตส์เมืองไทย โดยเป็นหลักสูตรที่จะสามารถสร้างองค์ความรู้ธุรกิจของตัวเองได้ โดยที่ไม่ต้องไปอยู่กับธุรกิจใหญ่ๆ หรืออาจเป็นผู้ประกอบการภายในองค์กร (Intrapreneur) ที่สามารถพัฒนาธุรกิจให้กับบริษัทใหญ่ๆ ด้วย“ ดร.เฉลิมพร กล่าว
ปตท. จับตาการรวมจุดแข็งเทคฯ-การตลาด
ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือกันปั้นหลักสูตรข้ามประเทศของทั้ง 2 สถาบันการศึกษาว่า เป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะทุกวันนี้ภาคธุรกิจต่างๆ ล้วนต้องการทักษะด้านเทคโนโลยี องค์กรต่างๆ ต้องการบุคลากรที่มีทักษะ “คิดใหม่-ทำใหม่” ขณะที่ ประเทศไทยและภาคอุตสาหกรรม มีความต้องการเดียวกันคือ การยกระดับอุตสาหกรรมสู่ยุค Industry 4.0 ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ทั้งเทคโนโลยีในโลกจริง (Physical Technology) เทคโนโลยีดิจิทัล และอื่นๆ ในอนาคต ซึ่งการจะก้าวไปถึงเป้าหมายนี้ได้ จำเป็นต้องมีการวางพื้นฐานมาตั้งแต่ระบบการศึกษา การสร้างบุคลากร
โดยมองว่า ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงเรื่องเทคโนโลยีหลายด้าน ที่ผ่านมาก็เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีส่งออกให้กับบริษัทใหญ่ระดับโลกหลายราย รวมทั้งในประเทศไทยด้วย อีกทั้ง ยังมีความโดดเด่นเรื่องสินค้าแบรนด์หรู จึงเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า ฝรั่งเศส มีความแข็งแกร่งทั้งด้านเทคโนโลยี การสร้างแบรนด์ และการตลาดที่สามารถปั้นแบรนด์ให้เป็นที่นิยมของคนทั่วโลก ดังนั้น ความแข็งแกร่งเหล่านี้ของฝรั่งเศส น่าจะเข้ามาหนุนเสริมทักษะให้กับบุคลากรในหลักสูตรนี้ รวมทั้งแรงงานยุคใหม่ที่หลักสูตรความร่วมมือนี้ผลิตออกไป โดยนอกเหนือจากทักษะด้านเทคโนโลยี ทักษะทางธุรกิจ ยังรวมไปถึงการมีโอกาสฝึกฝนทักษะที่เป็น International และ Global mindset เรียนรู้ที่จะสร้างประสบการณ์ให้กับผู้ใช้งาน (User Experience) และการออกแบบที่เป็น universal design
“ต้องจับตาว่าอาจเห็นสิ่งใหม่ๆ จากความร่วมมือระหว่าง 2 สถาบันการศึกษาในหลักสูตรนี้ โดยเฉพาะโอกาสในการ “เพิ่มมูลค่า” ให้กับเทคโนโลยีจากจุดเด่นด้านการสร้างแบรนด์และการตลาดของฝรั่งเศส ซึ่งหากภาพนี้เกิดขึ้นได้ จะเป็นการพลิกโฉมการแข่งขันของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งที่ผ่านมามีลักษณะเฉพาะคือ ยิ่งแข่งกันพัฒนา ยิ่งมีราคาถูกลง ดังนั้นหากได้ศักยภาพการสร้างแบรนด์ และการตลาดของฝรั่งเศสเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องนี้ จะช่วยให้ขายสินค้าเทคโนโลยีในราคาสูงได้โดยไม่ต้องกังวลกับการแข่งขัน” ดร.บุรณินกล่าว
การศึกษายุคใหม่ต้องดันนศ.ก้าวทันโลกเปลี่ยน
ทางด้านนางสาวฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทโซเชียลแล็บและนักข่าวไอที เผยต่อว่า ในบทบาทของสื่อมวลชนสายข่าว IT ได้เห็นและมีประสบการณ์กับเทคโนโลยีหลายครั้ง โดยเฉพาะในงานแสดง Consumer Technology ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก CES (Consumer Electronics Show) ซึ่งจัดขึ้นประจำทุกปีที่เมืองลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา ได้มีโอกาสเห็นเทรนด์การเติบโตของฮาร์ดแวร์ และไอเดียการจับเทรนด์ใหม่ๆ มาใส่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น จนเกิดเป็นนวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดโลก
"จากประสบการณ์เหล่านี้ จึงมองว่าแนวคิดด้านการเรียนรู้ใหม่ๆ เป็นสิ่งจำเป็น และภาคการศึกษา ต้องมีบทบาทเพิ่มการสนับสนุน และหนุนเสริมนักศึกษาในการรับมือความท้าทาย ก้าวทันโลกที่เปลี่ยนแปลง" นางสาวฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ กล่าว
อีกทั้ง มองว่านี่คือสิ่งสำคัญสำหรับนักศึกษาไทย ที่จะยกระดับจากความเป็นท้องถิ่น หรือการมองแต่ตลาดในประเทศ ไปสู่ทักษะในระดับสากล ดังนั้นการเรียนในหลักสูตรที่เป็นนานาชาติข้างต้น ที่ได้รับการออกแบบร่วมกับสถาบันการศึกษาของฝรั่งเศส จึงเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ตอบสนองความต้องการทักษะใหม่ของโลกยุคใหม่ ตอบโจทย์ความคาดหวังของภาคธุรกิจเมื่อคิดถึงการจ้างพนักงานใหม่ ปัจจุบันจะมองทักษะการแก้ปัญหา และการคิดวิเคราะห์ ตลอดจนทักษะด้าน Critical Thinking เพราะในยุคใหม่จำเป็นต้องมีการ “คิด” ร่วมกันทั้งจากคน (Human) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ (Robotic) และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data analytics)