EDU Research & ESG
ความสำเร็จSPUปั้นเด็กสร้างสรรค์ผลงาน 5รางวัลLocal Character Arts 2022
กรุงเทพฯ-ก้าวแรกสู่ความสำเร็จ! SPU ปั้นเด็ก สร้างสรรค์ผลงานคาแรคเตอร์ กวาดกว่า 5 รางวัล จากการแข่งขัน Local Character Arts 2022
ปัจจุบันไม่ว่าธุรกิจเล็กหรือใหญ่ต่างสนใจที่จะใช้คาแรคเตอร์ (Character Licensing) เป็นเครื่องมือทางการตลาด เพื่อสื่อสารภาพลักษณ์ของแบรนด์ตัวเองในโลกโซเชียล คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม มุ่งเน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ทั้งในรูปแบบจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพเคลื่อนไหวด้วยสื่อดิจิทัล จึงพร้อมสนับสนุนผลักดันให้นักศึกษาหาประสบการณ์ในการลงมือปฏิบัติจริง ล่าสุดกับการคว้ารางวัลแห่งความสำเร็จ กว่า 5 รางวัล จากการเข้าร่วมแข่งขัน Local Character Arts 2022 กิจกรรมที่ส่งเสริมการออกแบบผลงานคาแรคเตอร์ (Character Licensing) ซึ่งให้ครีเอเตอร์ได้แสดงศักยภาพ และสนุกกับการสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่
นางสาวธนพร งามจิตร อาจารย์ประจำคณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม เปิดเผยว่า “โครงการ Local Character Arts 2022 เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้โชว์ผลงานคุณภาพสู่โครงการระดับประเทศ ที่มีผู้ประกอบการทั่วประเทศไทยเข้าร่วม โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมมือกับสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) สมาคมการค้าลิขสิทธิ์ และของที่ระลึกจากคาแรคเตอร์ดีไซน์ ของเล่น ผลงานศิลป์ร่วมสมัยไทย (TCAP) และวิสาหกิจชุมชน Local Hero ตลาดน้อย ทรงวาด สำเพ็ง เยาวราช เพื่อดำเนินงานควบคู่ไปกับโครงการของสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ภายใต้ชื่อ Chang2022 Visual Character Arts for SMEs การพัฒนาคาแรคเตอร์ต่อยอดในรูปแบบธุรกิจ SME โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 1 และอาจารย์คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม ชนะการแข่งขัน Character Licensing กวาดรางวัลกว่า 5 รางวัล ได้แก่ อากงฮง ออกแบบโดย นางสาวกัญญาภัค เวชมนต์ , ถงถง ออกแบบโดย นางสาวชัญญา ประดับพิทยกุล , ลาเต้ อาร์ตตี้ ออกแบบโดย นางสาวปฎิมา กฤษณนนท์ , ลิโก ลิโก้ ออกแบบโดย ผศ. เกรียงไกร กงกะนันทน์ และ ปิโยะ ออกแบบโดย อาจารย์ธนพร งามจิตร ซึ่งกิจกรรมการแข่งขันสร้างสรรค์ผลงานในครั้งนี้ ทำให้นักศึกษาเกิดความร่วมมือกับชุมชน ภาครัฐ และเอกชน ตลอดจนการได้นำผลงานของนักศึกษาไปใช้งานจริง ทั้งรูปแบบผลิตภัณฑ์ สื่อดิจิทัล และมาสคอตประจำท้องถิ่น
คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม มุ่งเน้นให้นักศึกษาเรียนรู้จากทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติได้ โดยส่งเสริมให้นักศึกษาทุกคนมีโอกาสออกแบบชิ้นงานของตนเอง ตั้งแต่อยู่ชั้นปีที่ 1 พร้อมผลักดันให้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เพื่อสั่งสมประสบการณ์ระหว่างเรียน ทำให้นักศึกษาของเรามี Portfolio ที่อัดแน่นไปด้วยผลงานคุณภาพ โครงการ Local Character Arts 2022 ก็ถือเป็นอีกกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา ตั้งแต่กระบวนการคิด เริ่มต้นด้วยการหาข้อมูล ลงพื้นที่จริง (Research) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงใจคนในชุมชนมากที่สุด ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการออกแบบ ลงสี ซึ่งเป็นทักษะ Hard skill และหลังจากที่ผลงานได้รับการคัดเลือกแล้ว ยังจะต้องถูกปรับแก้ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานของแต่ละพื้นที่ ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้การวางแผนการทำงาน การแลกเปลี่ยนข้อมูลพูดคุยกับผู้ประกอบการ ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนส่งเสริมทักษะ Soft Skills ของนักศึกษาไปพร้อมกับการทำงานจริง นักศึกษาจะได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้พัฒนาศักยภาพของตัวเองอยู่เสมอ สอดคล้องกับนโยบายของคณะที่มีความมุ่งมั่นผลิตบัณฑิตคุณภาพ ตอบโจทย์ตลาดสายงานอาชีพในอนาคต”
สำหรับโครงการ Chang2022 | Visual Character Arts for SMEs แบ่งการคัดเลือกออกเป็น 4 ประเภท ประกอบไปด้วย ผลงานศิลปิน Change 2021 , ผลงานกลุ่มเครือค่ายพันธมิตรโครงการ , ผลงานเจ้าของธุรกิจที่มีคาแรคเตอร์อยู่แล้ว และผลงานเจ้าของธุรกิจที่ต้องจ้างนักออกแบบคาแรคเตอร์ ซึ่งผลงานคุณภาพของนักศึกษามหาวิทยาลัยศรีปทุม จะถูกจัดแสดงอยู่ย่านใจกลางกรุงเทพฯ ได้แก่ เยาวราช สำเพ็ง ร้าน Palette Artspace ทองหล่อ