In Bangkok

กทม.เฝ้าระวังป้องกันในการแพร่ระบาด โรคมือเท้าปากในสถานศึกษา-ศูนย์เด็ก



กรุงเทพฯ-สำนักอนามัย สำนักการศึกษา และสำนักพัฒนาสังคม กทม.เฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรคมือ เท้า ปาก ในสถานศึกษา - ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน

นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตเริ่มพบการแพร่ระบาดของโรคมือ เท้า ปากในเด็กเพิ่มขึ้น หลังเปิดการเรียนการสอนในโรงเรียนว่า สถานการณ์โรคมือ เท้า ปากในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 7 ส.ค.65 จำนวน 1,319 ราย โดยในเดือน ก.ค.65 มีผู้ป่วย 584 ราย และเดือน ส.ค.65 ระหว่างวันที่ 1-7 ส.ค. มีผู้ป่วย 341 ราย จากข้อมูลดังกล่าวถือว่าเริ่มมีแนวโน้มที่จะพบเด็กป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก มากขึ้นจากช่วงปิดภาคเรียน แต่เมื่อเทียบสถานการณ์กับค่ามัธยฐาน 5 ปี ย้อนหลัง ถือว่าจำนวนผู้ป่วยอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ โดยสำนักอนามัย ได้ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครองว่าโรคมือ เท้า ปาก สามารถติดต่อได้ผ่านทางปากโดยตรงจากมือที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของผู้ป่วย หรือผู้ติดเชื้อ หรือน้ำในตุ่มพอง หรือแผลของผู้ป่วย และโดยการหายใจนำเชื้อที่แพร่กระจายจากละอองฝอยของการไอ จามของผู้ป่วย ขณะเดียวกันให้หมั่นสังเกตอาการ ได้แก่ บริเวณมือ เท้า ปากมีตุ่มขึ้นหรือไม่ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคมือ เท้า ปาก

นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา  กทม. กล่าวว่า สำนักการศึกษา ได้ประสานสำนักงานเขตแจ้งให้โรงเรียนในสังกัด กทม.ทราบและดำเนินการตามมาตรการขอความร่วมมือดำเนินการเฝ้าระวังป้องกัน ควบคุมโรคมือ เท้า ปาก และโรคติดต่อที่สำคัญในช่วงก่อนฤดูกาลระบาด ประกอบด้วย การเฝ้าระวังป้องกันโรคมือ เท้า ปาก และโรคติดต่อที่สำคัญ โดยคัดกรองอาการป่วย หากพบเด็กป่วยในสถานศึกษาเป็นกลุ่มก้อนด้วยอาการเดียวกันให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทราบ และควบคุมโรคอย่างประสิทธิภาพ โดยทำความสะอาดห้องเรียน ของเล่น ที่นอน รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ และมีห้อง หรือพื้นที่สำหรับแยกเด็กป่วย หากพบเด็กป่วยต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่รับทราบโดยเร็ว หากพบเด็กป่วยด้วยโรคมือ เท้า ปาก ภายในห้องเดียวกันตั้งแต่ 2 ราย ใน 1 สัปดาห์ พิจารณาปิดห้องเรียนที่มีเด็กป่วย หากพบเด็กป่วยหลายห้องเรียน ควรพิจารณาปิดศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน หรือโรงเรียนอนุบาล 5 - 7 วัน นับจากพบผู้ป่วยรายสุดท้าย และทำความสะอาดห้องเรียน นอกจากนั้น ยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับโรคมือ เท้า ปาก และโรคติดต่อที่สำคัญแก่ผู้ปกครองให้ทราบถึงวิธีการดูแลสุขอนามัยที่ดี หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ตัดเล็บให้สั้น ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ภายหลังขับถ่าย สัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระเด็ก เฝ้าระวังตรวจสอบเด็กก่อนเข้าห้องเรียน หมั่นสังเกตอาการป่วยของเด็กอย่างใกล้ชิด หากมีอาการไข้ร่วมกับมีแผลในปาก โดยอาจมี หรือไม่มีตุ่มน้ำตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า ซึม เกร็ง มีอาการ หรืออาการแสดงถึงการติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง (CNS infection) ให้แยกเด็กไว้ที่ห้องพยาบาล ติดต่อให้ผู้ปกครองรับกลับบ้านและควรไปพบแพทย์ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงของการเป็นโรคมือ เท้า ปาก ในกลุ่มเด็กเล็ก รวมทั้งไม่คลุกคลีกับคนอื่น ๆ ในครอบครัว

นางอณุสรา ชื่นทรวง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กทม. กล่าวว่า สำนักพัฒนาสังคม ได้มีหนังสือแจ้งผู้อำนวยการเขตขอความร่วมมือดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคมือ เท้า ปาก และโรคติดต่อที่สำคัญในช่วงก่อนฤดูกาลระบาด เพื่อแจ้งอาสาสมัครผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในชุมชนและผู้ปกครองเตรียมความพร้อมเฝ้าระวังโรคติดต่อในช่วงก่อนฤดูกาลระบาดในพื้นที่เขต ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์ผ่านกลุ่มไลน์เจ้าหน้าที่ดูแลศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนในชุมชนทั้ง 45 เขต เพื่อเน้นย้ำให้อาสาสมัครผู้ดูแลเด็กและผู้ปกครองเด็กให้เฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาด ทำความสะอาดเด็ก คุมเข้มการคัดกรองเด็กก่อนเข้าศูนย์ฯ ด้วยหลัก 4 ร ประกอบด้วย 1) รักษาความสะอาดที่บ้านและศูนย์ฯ เน้นทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วม 2) รักษาสุขอนามัย หมั่นล้างมือก่อนและหลังกินอาหารหลังขับถ่ายด้วยสบู่และน้ำ3) รู้ทัน สังเกต หากมีไข้ มีจุดผื่นแดงบริเวณมือเท้า ปาก ตุ่มพองใส อักเสบ แดง จากนั้นจะเป็นแผลหลุมตื้น อาการจะทุเลาหายภายใน 7 วัน และ 4) ระวังไข้สูง หอบ เหนื่อย ซึม กล้ามเนื้ออ่อนแรง หากพบเด็กมีอาการให้รีบพบแพทย์ทันที