In Bangkok

กทม.เร่งสร้างความเข้าใจหลักเกณฑ์การ ชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง



กรุงเทพฯ-สำนักการคลัง กทม.เร่งสร้างความเข้าใจหลักเกณฑ์การชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

นายปิยะ พูดคล่อง ผู้อำนวยการสำนักการคลัง กทม. กล่าวกรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทำหนังสืออุทธรณ์หารือกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย ที่กำกับดูแล กทม. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อขอยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ดินไม่ได้ใช้ประโยชน์ว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.๒๕๖๒ กำหนดหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีตามประเภทการใช้ประโยชน์ของเจ้าของที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้าง โดย พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ มาตรา ๓๗ วรรคหนึ่ง บัญญัติเพดานขั้นสูงของอัตราภาษีที่ใช้ประโยชน์แต่ละประเภท ดังนี้ ประเภทใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม อัตราภาษีร้อยละ ๐.๑๕ ประเภทใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย อัตราภาษีร้อยละ ๐.๓ ประเภทใช้ประโยชน์อื่น อัตราภาษีร้อยละ ๑.๒ และประเภททิ้งไว้ว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ อัตราภาษีร้อยละ ๑.๒

ปัจจุบันกรุงเทพมหานครจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ มาตรา 37 วรรคหนึ่ง และวรรคห้า ประกอบกับพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.๒๕๖๔ สำหรับที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ อัตราภาษีร้อยละ 0.3 - 0.7 ตามมูลค่าของฐานภาษี และให้เพิ่มอัตราภาษีร้อยละ ๐.๓ ทุก ๓ ปี แต่อัตราภาษีรวมทั้งหมดต้องไม่เกินร้อยละ ๓ ตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ มาตรา ๔๓ ซึ่ง รฟท.ถือเป็นรัฐวิสาหกิจและมีสถานะเป็นนิติบุคคลในกำกับกระทรวงคมนาคมจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๔๙๔ จะได้รับการยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.๒๕๖๒ มาตรา ๘ (๑๒) ประกอบกับกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.๒๕๖๒ ข้อ (2) และ (4) กล่าวคือ ทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจที่ยังมิได้ใช้ในกิจการของรัฐวิสาหกิจและยังไม่ได้หาผลประโยชน์ รวมถึงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นทางรถไฟ ซึ่งใช้ในกิจการของ รฟท.โดยตรง สำหรับการลดหย่อนภาษี ประจำปีภาษี พ.ศ.๒๕๖๕ นั้น หาก รฟท.ได้รับการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในจำนวนที่สูงกว่าจำนวนภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือภาษีบำรุงที่ที่ต้องเสีย หรือพึงชำระในปีก่อนที่การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.บ.นี้มีผลใช้บังคับ ย่อมได้รับการบรรเทาการชำระภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ มาตรา ๙๗ โดยให้ชำระภาษีตามจำนวนที่ต้องเสีย หรือพึงชำระในปีก่อน เหลือจำนวนภาษีเท่าใด ให้ชำระร้อยละ ๗๕ ของจำนวนภาษีที่เหลือ

นอกจากนี้ ในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประจำปีภาษี พ.ศ.๒๕๖๕ กทม.ได้มีประกาศ ลงวันที่ ๒๘ ม.ค.65 เรื่อง ขยายกำหนดเวลาดำเนินการตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ๒๕๖๕ โดยขยายเวลาชำระภาษี จากภายในเดือน เม.ย. เป็นภายในเดือน ก.ค.๖๕ รวมถึงขยายกำหนดเวลาผ่อนชำระภาษี งวดที่ ๑ จากภายในเดือน มิ.ย.เป็นภายในเดือน ก.ค.๖๕ งวดที่ ๒ จากภายในเดือน ก.ค.เป็นภายในเดือน ส.ค.๖๕ และงวดที่ ๓ จากภายในเดือน ส.ค.เป็นภายในเดือน ก.ย.๖๕ ดังนั้น หากผู้เสียภาษีมิได้ชำระภาษีภายในระยะเวลาที่กำหนด จะต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ดังนี้ (1) ผู้เสียภาษีได้ชำระภาษีก่อนได้รับหนังสือแจ้งเตือน ให้เสียเบี้ยปรับร้อยละ ๑๐ ของจำนวนภาษีค้าง (2) ผู้เสียภาษีได้ชำระภาษีภายในเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือแจ้งเตือน ให้เสียเบี้ยปรับร้อยละ ๒๐ ของจำนวนภาษีค้าง (3) ผู้เสียภาษีได้ชำระภาษีเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามหนังสือแจ้งเตือน ให้เสียเบี้ยปรับร้อยละ ๔๐ ของจำนวนภาษีค้าง และ (4) ให้ผู้เสียภาษีเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ ๑ ต่อเดือนของจำนวนภาษีค้างชำระ เศษของเดือนให้นับเป็น ๑ เดือน ทั้งนี้ มิให้นำเบี้ยปรับมารวมคำนวณ เพื่อเสียเงินเพิ่มด้วย อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการคลัง ได้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์กำหนดเวลาการชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประจำปีภาษี พ.ศ.๒๕๖๕ รวมทั้งช่องทางการชำระภาษี การขอผ่อนชำระภาษีตามกฎกระทรวง ตลอดจนเบี้ยปรับและเงินเพิ่มของจำนวนภาษีค้าง และมาตรการบังคับกับผู้ค้างภาษี ผ่านเว็บไซต์สำนักการคลัง https://www.fdbma.net/modules.php?m=news update_public&op=detailnewsupdate&NUID=668