Photo Style

มุมต่าง!จังหวัดใกล้กรุงในอีอีซี...'แปดริ้ว' ชมทุ่งธรรมชาติเขียวขจี-สัมผัสวิถีดั้งเดิม



ฉะเชิงเทรา-ชมทุ่ง ชวนเที่ยวแปดริ้วที่บั้นปลายท้ายจังหวัด ตื่นตาไปกับสีสันอันสดใสเขียวขจีไปทั่วทั้งท้องทุ่ง สลับบรรยากาศการเดินทางบนเส้นทางย้อนยุคของผิวถนนลูกรังแดง ท่ามกลางสองฝั่งการสัญจรที่ร่มรื่นชวนให้หลงไหล ในฤดูฝนน้ำหลาก ขณะชาวบ้านยังประกอบอาชีพตามวิถีเกษตรกรรม ทั้งนาข้าว ไร่มัน สวนยาง และป่ายูคา สลับพืชสวนครัวล้มลุกในอาณาเขตจังหวัดรั้วติดกันกับชาวกรุง ที่อาจหาดูได้ยาก ณ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา

วันที่ 22 ส.ค.65 เวลา 08.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสภาพแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ในเขตพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ช่วงฤดูน้ำหลากมีฝนตกชุกและท่วมขังอยู่ในแปลงนาข้าว ทั้งที่สภาพผืนดินเป็นเนินลูกฟูกใกล้ชายป่าเขาทางตอนบนของ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นอำเภอสุดท้ายปลายสุดของจังหวัด ก่อนที่จะเชื่อมไปสู่ยัง จ.สระแก้ว และจันทบุรี ว่า ยังสามารถพบเห็นผืนนาข้าวอันเขียวขจีที่ดูสดใสสวยงามได้อย่างเพลิดเพลินตา 

อาจพบเห็นได้ยากในจังหวัดที่มีอาณาเขตติดกันกับตัวเมืองหลวงขนาดใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ที่มีแปลงนาข้าวหอมมะลิ ถูกหว่านดำยืนต้นรอผลิรวงสลับกับต้นไม้ป่าขนาดใหญ่ ที่ผุดยืนต้นตระหง่านขวางลมแซมอยู่กลางท้องนา ทำให้ทุ่งข้าวดูแปลกตาชวนมองที่ด้านท้ายของหมู่บ้านหนองปรือน้อย ริมเส้นทางสัญจรแบบชนบท ที่บางส่วนเพิ่งมีการปรับปรุงพื้นผิวการจราจรจากถนนที่ปูราดไปด้วยกรวดดินแดง หรือถนนลูกรัง มาเป็นถนนลาดยางแอสฟัลท์ติกคอนกรีต (ยางมะตอย) เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา 

โดยเป็นเส้นทางเชื่อมออกมาจากบ้านหนองปรือน้อย ม.16 ไปยังบ้านอ่างเสือดำ ม.7 ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งความสวยงามที่ปรากฏให้ผู้ที่ผ่านไปมาได้เห็นอยู่นี้ ถือเป็นจุดน่าแวะชมที่เลยผ่านออกมาจากสี่แยกกลางหมู่บ้านหนองปรือน้อยมุ่งหน้าอ่างเสือดำเพียงประมาณ 1 กม.เท่านั้น และยังเป็นบริเวณจุดสิ้นสุดโครงการปรับปรุงพื้นผิวถนนที่เริ่มเปลี่ยนจากถนนลาดยางมาเป็นถนนลูกรัง แต่สามารถเดินทางต่อไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ได้โดยไม่ลำบากมากนัก

ทั้งยังคงสภาพแวดล้อมสองข้างทาง ที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติมีให้เห็นอย่างสวยงาม สลับกับแนวก้อนเมฆที่ลอยผ่านมาตัดกับขอบฟ้าสีครามในยามแสงแดดสาดส่องลงสู่ผืนนา โดยมียอดไม้ใหญ่ยืนต้นเรียงรายเป็นทิวแถวบังเงาตัดกับยอดปลายข้าวอันเขียวขจี จึงถือเป็นสถานที่ที่มีความสวยงามและมีคุณค่า เป็นเสน่ห์ดึงดูดสายอย่างโดดเด่นอยู่ในชุมชนของผู้ที่ได้เข้ามาพบเห็น ชวนให้ต้องเหลียวหลังกลับมามองเมื่อยามขับรถผ่านอย่างน่าหลงใหล 

โดยเฉพาะคนกรุงที่ต้องการเดินทางพักผ่อน และชอบออกมาท่องเที่ยวชมธรรมชาติในระยะทางที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก แต่มีความคุ้มค่าจากการได้สัมผัสกับทัศนียภาพและบรรยากาศกลางท้องทุ่ง ที่ดูคล้ายคลึงกันกับพื้นที่ในชนบทห่างไกลตามต่างจังหวัด ในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ จึงถือเป็นผลกำไรที่ได้จากความประหยัดมากกว่าเมื่อเทียบกับเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่แตกต่างกันออกไป 

ขณะที่ตามเส้นทางนับจากแยกออกมาจากถนนสาย 3259 เดิม (3076) ที่บริเวณทางสามแยกสวนป่าลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อมุ่งหน้าผ่านมาทางหมู่บ้านทุ่งยายชี จนมาถึงหมู่บ้านหนองปรือกันยางนั้น ยังเต็มไปด้วยความร่มรื่นของเงาร่มไม้ใหญ่ตามรายทางมาโดยตลอด สลับกับไร่มันสำปะหลัง สวนยาง สวนปาล์ม และป่ายูคาลิปตัส โดยบางจุดยังมีแนวเทือกเขาเนินเตี้ยๆ แทรกเข้ามาเป็นฉากหลัง ให้ได้เห็นทิวทัศน์อันสวยงามอย่างน่าตื่นตา 

และหากผ่านเลยมาถึงยังจุดชมทุ่งอันเขียวขจีสดใสในยามฤดูฝนแห่งนี้แล้ว เส้นทางต่อไปในสายเดียวกันยังคงมีสภาพเป็นถนนลูกรังให้ได้สัมผัส กับการขับรถไปบนถนนดินแดง ที่อาจจะพบเห็นได้ยากมากแล้วสำหรับคนในเมืองหลวง แต่ยังสามารถขับรถเข้ามาสัมผัสได้กับบรรยากาศการเดินทางชมธรรมชาติในชนบทได้ที่ จ.ฉะเชิงเทรา โดยที่เป็นจังหวัดที่มีอาณาเขตติดกันกับเมืองกรุง หรือใกล้กรุงเทพฯ ที่สุดในปัจจุบัน

สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา