EDU Research & ESG
วช.-สอศ.บ่มเพาะนักประดิษฐ์อาชีวศักษา 'พัฒนาคนพัฒนอาชีวะ'ก้าวสู่นวัตกรรม
กรุงเทพฯ-วช.ร่วมกับ สอศ. บ่มเพาะนักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษา “พัฒนาคน พัฒนอาชีวะ” เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดกิจกรรม “การบ่มเพาะเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Innovation ภาคกลางและภาคตะวันออก” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พัฒนาคน พัฒนาอาชีวะ : เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 16 – 18 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพฯ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีหน้าที่ในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรม การจัดทำฐานข้อมูลและดัชนีวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ การริเริ่ม ขับเคลื่อนและประสานการดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ การจัดทำมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย การส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม และการให้รางวัลประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคล หรือหน่วยงานด้านวิจัยและนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและคุณภาพชีวิตประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี สังคมมีความมั่นคงสงบสุข วช. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาคนและสังคมไทยให้เป็นรากฐานที่เข้มแข็งของประเทศในการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้สู่การร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาการอาชีวศึกษา พ.ศ.2560 – 2579 และแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560 - 2579 ในการมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมทั้งการพัฒนาศักยภาพกำลังคนให้มีสมรรถนะสอดคล้อง กับความต้องการในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น วช. และ สอศ. ได้ร่วมจัดวางกลไกและจัดทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและบุคลากรของสถาบันการศึกษาได้พัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีทักษะและคุณลักษณะที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีของโลก สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ต่อไป ในการนี้ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องในการเร่งพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาเสริมสร้างทักษะที่สำคัญจำเป็นและมีสมรรถนะตรงตามความต้องการในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ วช. จึงได้ดำเนินการจัดกิจกรรมการบ่มเพาะเพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา : Smart Invention & Innovation เสริมสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ ทักษะและเทคนิคด้านการประดิษฐ์คิดค้นตลอดจนการเขียนข้อเสนอโครงงานสิ่งประดิษฐ์ได้อย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้นักประดิษฐ์สายอาชีวศึกษาได้เข้าใจและเห็นประโยชน์ของการวิจัยและการประดิษฐ์คิดค้นเพื่อสร้างสรรค์ผลงานในเชิงนวัตกรรมที่สามารถพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และสังคมได้ต่อไป
โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ วช. มีรูปแบบในการจัดกิจกรรมบ่มเพาะในการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับหลักการเขียนข้อเสนอโครงการสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม การเปลี่ยนขยะให้เป็นสินค้าด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ความรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม Creative Thinking for Creative Innovation เทคนิคการนำเสนอผลงาน พร้อมกันนี้ได้มีกิจกรรมแบ่งกลุ่มการฝึกปฏิบัติตามกลุ่มเรื่อง ซึ่งได้กำหนดกลุ่มเรื่องผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ดังนี้ 1. ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 2. ด้านสาธารณสุข สุขภาพ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ 3. ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์อัจฉริยะ 4. ด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model และ 5. ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรอบรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการพัฒนาผลงานนวัตกรรมในเวทีระดับชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งท่านได้มาให้ความรู้ ความเข้าใจ การสร้างแรงบันดาลใจกับทีมสายอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ที่จะเป็นกลไกหนึ่งในการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม การขับเคลื่อน การพัฒนาและสร้างนวัตกรรมในอนาคตต่อไป