In Global
การพัฒนาเศรษฐกิจของจีนและปท.ไทย ภายใต้กรอบ RCEP
RCEP หรือในชื่อเต็ม Regional Comprehensive Economic Partnership คือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค จัดเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับที่ 14 ของประเทศไทย ครอบคลุมกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศและพันธมิตรทางการค้าอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และจีน มีผลบังคับใช้กับชาติที่ลงสัตยาบันไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ได้แก่ เวียดนาม ลาว กัมพูชา บรูไนดารุสซาลาม ไทย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน หลายฝ่ายมองว่า RCEP ไม่ต่างจากความตกลงระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบหนึ่งในสามของมูลค่าการค้าโลก คิดเป็น 30.3%
เนื่องจากไทยและจีนต่างก็อยู่ในกรอบ RCEP ความเข้าใจ RCEP จะช่วยให้เห็นแนวทางรวมทั้งความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างกัน ในการนี้ผู้ให้สัมภาษณ์ ซึ่งได้แก่ ดร.ฐณยศ โล่ห์พัฒนานนท์ นักวิจัยด้านวัฒนธรรม ความมั่นคงใหม่ และอุตสาหกรรมบันเทิงระหว่างประเทศ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้วิเคราะห์เกี่ยวกับ RCEP ไว้อย่างน่าสนใจ
RCEP ไม่เพียงช่วยให้ไทยและจีนผูกสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในลักษณะพึ่งพากันและกันอย่างเหนียวแน่น แต่ยังสร้างตลาดการค้าตามแนวคิดความยั่งยืน เพราะกลไกข้อตกลงมุ่งกระตุ้นให้แต่ละฝ่ายเปิดทางให้แก่การส่งออกของคู่ค้าตนเอง เน้นสินค้าที่ต่างฝ่ายต่างขาดแคลน
ดร.ฐณยศกล่าวว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ RCEP มีวัตถุประสงค์เพื่อผนึกกำลังทางตลาด การลงสัตยาบันเกิดขึ้นเพราะสมาชิกหวังให้เกิดการไหลเวียนของสินค้าและบริการข้ามพื้นที่ โดยรวมเรื่องของการลงทุนข้ามพรมแดน ทรัพย์สินทางปัญญา อีคอมเมิร์ซ SMEs และความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่น ๆ จีนกับชาติสมาชิกจึงพยายามอิงแนวทาง win-win cooperation ด้วยการส่งเสริมให้แต่ละฝ่ายขายสินค้าที่อีกฝ่ายต้องการมากกว่าจะแข่งขันกันเอง นั่นทำให้ RCEP อิงอุดมการณ์ตลาดในแง่ของการเป็นพื้นที่สำหรับอำนวยการพึ่งพามากกว่าจะค้าขายโดยไม่สนใจความเป็นไปของอีกฝ่าย สมาชิกเพียงพัฒนาจุดเด่นของตนเองให้สอดรับกับช่องว่างในตลาด
อย่างในกรณีของไทย จีนจะลดและยกเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าส่งออกของไทยที่จีนสนใจหลายรายการดังที่จีนได้ประกาศไปแล้ว ในสายตาจีน ความสนับสนุนของทั้งไทยและจีนต่อ RCEP จะยกระดับความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจระหว่างกัน เดิมทีจีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย ทั้งยังเป็นนานติดต่อกันถึง 9 ปี การค้าไทย-จีนได้เยียวยาความเสียหายจากโรคระบาดดังเห็นได้จากปริมาณการค้าปีที่แล้วซึ่งมีมูลค่าเกินกว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ บรรษัทจีนในกลุ่มอีคอมเมิร์ซ การสื่อสาร ยานพาหนะ และโฟโตโวลเทอิก (อุตสาหกรรมแผงโซลาร์เซลล์) ประสบความสำเร็จในการตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ขณะเดียวกันผลผลิตทางการเกษตรของไทยรวมทั้งยางพาราและผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าก็ได้รับการตอบรับที่ดีในประเทศจีน เมื่อชาติสมาชิกเริ่มบังคับใช้กฎ RCEP ไทยและจีนจะเปิดตลาดเพิ่มอีกโดยเน้นผลิตภัณฑ์ประมง การทำกระดาษ ส่วนประกอบยานยนต์ และโลหะ จากนั้นการค้ามากกว่า 90% จะถูกขับเคลื่อนด้วยการยกเลิกภาษีนำเข้า แล้วขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ทรัพย์สินทางปัญญา และเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อสร้างพลังการเชื่อมโยงของทรัพยากรดิจิทัลของสองชาติ
ณ ปัจจุบัน ประเทศจีนพยายามนำโครงการเชื่อมโยง BRI ไปสู่เป้าหมาย จีนจึงพยายามส่งเสริมเขตการค้าด้วยแนวคิดมิตรภาพ และ RCEP ก็คือผลพวงของความพยายามนี้ จีนมุ่งหวังให้ RCEP เป็นกลไกการฟื้นตัวของพื้นที่ในยุคหลังโควิด-19 ทั้งยังปรารถนาจะเห็น RCEP เปิดการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภาคส่วนอื่นของโลกซึ่งจะทำให้ RCEP เป็นทั้งโอกาสของชาติภายนอกและชาติสมาชิกในพื้นที่ข้อตกลง
หากพิจารณาภาพใหญ่ ดร.ฐณยศระบุว่าจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า RCEP ก็คือตลาดเอเชียแปซิฟิก ข้อตกลงต่าง ๆ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อประสานความห่างเหินพร้อมกับดึงจุดแข็งของเอเชียแปซิฟิกออกมาให้มากที่สุด เอเชียแปซิฟิกเป็นพื้นที่ทางการค้าที่แข็งแกร่ง มีทั้งสินค้าบริการทางการเกษตร เทคโนโลยี พลังงาน การเงิน อุตสาหกรรม อย่างในปี 2020 ขนาดเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียแปซิฟิกติด 1 ใน 5 ของโลก จีนอยู่ที่อันดับ 2 ญี่ปุ่นอยู่ที่อันดับ 3 และกลุ่มชาติอาเซียนรวมกันติดอันดับ 5 เอเชียแปซิฟิกจึงเป็นตลาดศักยภาพสูง แต่เอกภาพอาจจะยังไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการกระจายสินค้ากับความร่วมมือไปพื้นที่อื่น ๆ แทนที่จะเชื่อมต่อกันเองอย่างสมบูรณ์
ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากมองว่า RCEP ถูกออกแบบมาเพื่อให้แข่งขันกับ TPP หรือ Trans-Pacific Partnership ของสหรัฐฯ ก่อนที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะนำสหรัฐฯ ออกจาก TPP แล้วทำให้ RCEP ได้เติบโต ในสายตาหลายคน จีนอาจดัน RCEP เพื่อยันกับศูนย์อำนาจตะวันตก แต่ในข้อเท็จริง แม้โลกไม่มี TPP ความตกลงแบบ RCEP ก็ยังต้องเกิดขึ้น เพราะมันคือการดึงศักยภาพในพื้นที่เพื่อสร้างตลาดแบบพึ่งพา RCEP ตอบโจทย์ win-win cooperation ความยั่งยืน ทั้งยังช่วยกระชับความผูกพันในพื้นที่รอบบ้านซึ่งมีความสำคัญกับทุกชาติสมาชิก ดร.ฐณยศกล่าวทิ้งท้าย
(เรียบเรียงและสัมภาษณ์โดย อาจารย์กอบกิจ ประดิษฐผลพานิช คณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์, http://english.news.cn/20220101/6683e16352c74d098fb8ce2ad341088e/c.html)