In Bangkok
กทม.แนะเขตกำชับ Delivery เข้มโควิด พร้อมจัดการขยะติดเชื้อในชุมชน

กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯทวิดา แนะเขตกำชับ Delivery ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด พร้อมจัดการขยะติดเชื้อในชุมชนให้มีประสิทธิภาพ
(30 ส.ค. 65) ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศูนย์เฝ้าระวังภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพกรุงเทพมหานคร Bangkok Health Emergency Operations Center (ศฉส.กทม. : BHEOC) ครั้งที่ 3/2565 โดยมีคณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร และประชุมผ่านระบบทางไกล
ในที่ประชุม สำนักการแพทย์และสำนักอนามัยได้รายงานสถานการณ์จำนวนผู้ป่วยรายวันในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เฉลี่ยวันละ 1,000-1,200 ราย ลดลงเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน ซึ่งในส่วนของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมวันละ 270-290 ราย ลดลงเหลือวันละ 130-180 ราย (ลดลงร้อยละ 37.93) โดยผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลยังคงเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 608 เป็นส่วนใหญ่ อัตราการครองเตียงใน กทม. ร้อยละ 32.8 ซึ่งมีแนวโน้มลดลงจากสัปดาห์ก่อนที่ร้อยละ 38.2 และยังมีเตียงรองรับเพียงพอ
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการประชุม ศบค. ครั้งที่ 11/2565 เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 65 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการประชุม ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตามแนวปฏิบัติด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) การจัดบริการอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่ (Delivery) และมาตรการจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อในชุมชนอย่างเคร่งครัด โดยกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือถึงปลัดกรุงเทพมหานคร และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 23 ส.ค. 65 ให้กรุงเทพมหานครประสานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมแนบแนวทางปฏิบัติ ซึ่งเป็นแนวทางที่กรุงเทพมหานคร ได้มีการประกาศใช้อยู่แล้ว
โดยรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตดูแลและให้คำแนะนำผู้ประกอบการ Delivery ในพื้นที่ รวมทั้งพูดคุยกับชุมชนให้เข้าใจถึงมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลที่ยังต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัด ซึ่งกรุงเทพมหานคร จะมีการประสานไปยังผู้ประกอบการ Delivery ของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้ทราบแนวทางปฏิบัติ และกำชับพนักงานขนส่งอาหารซึ่งเป็นผู้สัมผัสผู้คนจำนวนมาก ให้รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลโดยเคร่งครัด หากสำนักงานเขตลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการ หรือสำนักอนามัยที่ร่วมตรวจในเรื่องของสาธารณสุข ขอให้เน้นย้ำผู้ประกอบการถึงเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น ให้เป็นมาตรการเชิงรุกไปในตัว ในส่วนของการจัดการขยะมูลฝอยติดเชื้อในชุมชน ซึ่งได้มีการดำเนินการให้คำแนะนำมาเป็นระยะ ๆ รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนมีการแยกขยะติดเชื้อและหน้ากากอนามัยออกจากขยะทั่วไป เพื่อป้องกันการเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวด้วย ซึ่งจะได้มีการกระตุ้นย้ำเตือนต่อไป
นอกจากนี้ ในช่วงสถานการณ์ที่ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีแนวโน้มสูงขึ้น ขอให้ทางสำนักงานเขตดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง คนพิการ กลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะโรคที่จะเกิดปัญหา หากแผลสัมผัสน้ำ รวมทั้งสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน หากมีผู้ที่มีความเปราะบางทางสุขภาพ จะต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ กรณีสำนักงานเขตต้องเข้าไปช่วยเหลือกลุ่ม 608 ออกจากพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ซึ่งหากกลุ่ม 608 เป็นผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เจ้าหน้าที่จะต้องป้องกันตนเองตามมาตรการป้องกันควบคุมโรค เพื่อป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และต้องให้ความระมัดระวังในการช่วยเหลือด้วย
ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้คำแนะนำสำนักงานเขตในการลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ พิจารณาแจ้งเตือนผู้ประกอบการให้แก้ไขปรับปรุงตามลักษณะบริบทของร้าน โดยไม่จำเป็นว่าทุกร้านจะต้องทำเรื่องเดียวกันเหมือนกันหมด ในขณะเดียวกันมาตรการความปลอดภัยเบื้องต้น โดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้าแสงสว่าง สายไฟ ต้องมีความเข้มงวดให้มากขึ้น ที่สำคัญต้องพิจารณาเรื่องสภาพแวดล้อมด้วย อาทิ ทางออกฉุกเฉิน ทางลง ทางขึ้น ต้องไม่มีสิ่งกีดขวางโดยรอบ ทั้งในช่วงเวลากลางวันและกลางคืน ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยบันทึกข้อมูลลงในหมายเหตุการตรวจด้วย