In Bangkok

กทม.เน้นย้ำมาตรการเฝ้าระวังหนุนความรู้ วิธีป้องกันให้ปลอดภัยโรคฝีดาษลิง



กรุงเทพฯ-สำนักการแพทย์ กทม.เน้นย้ำมาตรการเฝ้าระวังส่งเสริมความรู้วิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคฝีดาษลิง

นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวถึงมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สำนักการแพทย์ ได้ติดตามเฝ้าระวัง พร้อมทั้งสั่งการให้ทุกโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัด กทม.เฝ้าระวังคนไข้ทั้งห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน (ER) และในระบบผู้ป่วยนอก (OPD) รวมถึง รพ.ที่มีคลินิกเฉพาะทาง เช่น คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง อีกทั้งได้มอบหมาย รพ.สิรินธร เปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคอุบัติใหม่ เพื่อเฝ้าติดตามข้อมูล ควบคุม ดูแลสถานการณ์โรคฝีดาษลิงอย่างใกล้ชิด หากพบผู้ป่วยที่มีอาการต้องสงสัยให้แยกกักตัวและแจ้งให้ผู้บริหารและกระทรวงสาธารณสุขทราบทันที อย่างไรก็ตาม แม้การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อดังกล่าวได้ แต่การฉีดวัคซีนดังกล่าวควรทำเฉพาะในบุคคลที่ต้องทำงานมีความเสี่ยง หรือใกล้ชิดกับคน หรือสัตว์ที่ติดเชื้อเท่านั้น และวัคซีนยังสามารถรับได้ภายหลังการได้รับเชื้อไม่เกิน 14 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบพบแพทย์ทันที และแยกกักตัว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ กทม. โทร.1646 ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้ประชาชนเกี่ยวกับลักษณะการแพร่เชื้อ การสังเกตการของโรค และวิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคฝีดาษลิง ขณะเดียวกันขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด หากต้องเดินทางไปยังประเทศที่พบผู้ป่วยฝีดาษลิง ควรระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ และหลังจากเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาด ขอให้สังเกตอาการ เนื่องจากโรคนี้เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด ไม่ได้ติดต่อกันได้ง่าย มาตรการที่ใช้ป้องกันโรคโควิด 19 ยังใช้ป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ หากพบความผิดปกติ เช่น มีไข้ มีตุ่มผื่นที่ใบหน้า แขน และขา ให้รีบพบแพทย์ทันที รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ เว้นระยะห่าง ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย หรือผู้มีตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง สำหรับกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและมีคู่นอนหลายคน สามารถเข้ารับคำปรึกษาได้ที่คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย กรุงเทพมหานคร (BKK Pride Clinic) ใน รพ.สังกัด กทม. 4 แห่ง ประกอบด้วย รพ.กลาง โทร.02 220 8000 ต่อ 10350 รพ.ตากสิน โทร.02 4370 123 ต่อ 1136, 1140 รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ โทร.02 2897 890 และ รพ.สิรินธร โทร.02 3286 900 - 15 ต่อ 10268, 10269