In Bangkok
กทม.พร้อมหารือผู้เชี่ยวชาญหาแนวทาง การใช้ประโยชน์พื้นที่โรงฆ่าสัตว์

กรุงเทพฯ-(31 ส.ค.65) เวลา 10.00 น. ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางบริหารจัดการโรงฆ่าสัตว์ของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2/2565 โดยมี นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายจิรัฏฐ์ ม้าไว ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักอนามัย สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการคลัง สำนักการโยธา สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักงานกฎหมายและคดี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางบริหารจัดการโรงฆ่าสัตว์ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการลงพื้นที่สำรวจกันไปแล้ว แต่เดิมกรุงเทพมหานครมีเจตนาในการใช้พื้นที่เป็นโรงฆ่าสัตว์ แบ่งออกเป็น โรงฆ่าสุกร และโรงฆ่าโค-กระบือ ตั้งอยู่ด้วยกันบริเวณเขตหนองแขม ปัจจุบันโรงฆ่าสัตว์ทั้ง 2 แห่ง ติดคดีความด้วยกันทั้งคู่ ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ให้ผู้ประกอบการเอกชนเช่าประกอบกิจการโรงฆ่าสุกรและโรงฆ่าโค-กระบือ ซึ่งโรงฆ่าสุกรผู้ประกอบการเข้ามาแล้ว ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ จึงติดคดีความกันมา จนกระทั่งคดีสิ้นสุดลง กรุงเทพมหานครเห็นว่าโรงฆ่าสุกรที่ทิ้งไว้ว่างเปล่านั้น จะสามารถดำเนินการใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ทางข้อกฎหมายอนุญาตให้ทำอะไรได้แค่ไหน แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปมาก โรงฆ่าสัตว์เหล่านี้เริ่มดำเนินการมาประมาณปี 2560 ในช่วงนั้นยังไม่มีธุรกิจครบวงจรที่ให้ภาคเอกชนดำเนินการ ซึ่งกรุงเทพมหานครก็มีเจตนาดีที่จะมีโรงฆ่าสัตว์เป็นของตนเองที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานสาธารณสุข ส่งให้เป็นอาหารกลางวันโรงเรียน ประชาชนได้บริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ โดยจะเปิดดำเนินการในปี 2561 ส่วนโรงฆ่าโค-กระบือ เริ่มดำเนินการมาได้ปีกว่าๆ ก็ต้องหยุดไป เพราะไม่สามารถที่จะดำเนินกิจการได้
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตามในส่วนของโรงฆ่าโค-กระบือ ขณะนี้คดีความยังไม่สิ้นสุด คาดว่าต้องใช้ระยะเวลาอีกประมาณปีกว่าๆ กรุงเทพมหานครจึงยังไม่สามารถเข้าไปดำเนินการใดๆ ได้ ส่วนโรงฆ่าสุกร ภายในอาคารยังมีอุปกรณ์ต่างๆ ติดตั้งอยู่ ซึ่งยังเป็นของใหม่ ยังไม่ได้ใช้งาน แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เครื่องมือและอุปกรณ์บางส่วนอาจจะใช้การไม่ได้แล้ว อีกทั้งกรุงเทพมหานครไม่มีความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจเกี่ยวกับโรงฆ่าสัตว์ ภายใต้กฎหมายและระเบียบต่างๆ จะสามารถดำเนินการได้แค่ไหน เพราะฉะนั้นต้องหาคำตอบให้ได้ก่อน การประชุมในวันนี้จึงเป็นการหารือกันถึงโรงฆ่าสัตว์ ซึ่งจะเป็นในส่วนของโรงฆ่าสุกรว่าจะใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง โดยจะต้องหาคำตอบในหลายๆ วิธี ทางกรุงเทพธนาคมได้ให้ความเห็นมาว่าในพื้นที่ตรงนี้กรุงเทพมหานครจะบริหารจัดการได้ในรูปแบบใด ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่กรุงเทพมหานครและประชาชน ในขณะเดียวกันต้องพูดคุยกับผู้ที่ประกอบธุรกิจในด้านนี้ สมาคมที่เกี่ยวกับเนื้อสัตว์ การส่งออกหรือการแปรรูปว่า มีผู้ที่มีความพร้อมเข้ามาประกอบธุรกิจโรงฆ่าสัตว์ในลักษณะนี้บ้างไหม ซึ่งปัจจุบันมีเงื่อนไขเกี่ยวกับประกอบการมากขึ้นกว่าก่อน ทั้งสภาพแวดล้อม สุขอนามัย การกำจัดควบคุมไม่ให้รบกวนชุมชน รวมถึงเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบการเกี่ยวกับเนื้อสัตว์อีกมากมาย จึงมีการตั้งคณะทำงานใหม่เพื่อศึกษาในเรื่องนี้ ส่วนคณะทำงานเดิมยังคงศึกษาโอกาสทางด้านการลงทุน และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ
“ปัจจุบันทางกรุงเทพธนาคม ไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้แล้ว คือ ปศุสัตว์ การฆ่าสัตว์ การแปรรูปเนื้อสัตว์ และการบริหารจัดการโรงฆ่าสัตว์ จึงเสนอให้กรุงเทพมหานครศึกษาเพิ่มเติมจากสถาบันการศึกษาที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือสอบถามไปยังผู้ประกอบการฟาร์มมาตรฐานขนาดใหญ่ ดังนั้น กรุงเทพมหานครอาจจะต้องไปขอความรู้ทางด้านวิชาการจากคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ที่ทำเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมถึงขอความเห็นจากกรมปศุสัตว์ ทางสมาคมที่เกี่ยวกับเนื้อสัตว์และการแปรรูป เครือข่ายที่ทำธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อจะดูว่าที่แท้จริงคำตอบที่ได้จะนำไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่โรงฆ่าสัตว์ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร” รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวในตอนท้าย