EDU Research & ESG
'นักร้องค.ร.อ.ท.'ยื่นหนังสือถึงนายกฯทวง 'สอศ.จ้างที่ปรึกษาคนนอกรับเงิน5หมื่น'
กรุงเทพฯ-เมื่อ 3 กันยายน นายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี ประธานเครือข่ายคนรักษ์อาชีวศึกษาแห่งประเทศไทย(ค.ร.อ.ท.) ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อทวงถามความคืบหน้ากรณีที่ ค.ร.อ.ท. เคยร้องเรียนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและปปช.ในกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาได้ดำเนินการเรื่องการจ้างที่ปรึกษาจากบุคคลภายนอก ที่ผ่านมาและในปีงบประมาณนี้จำนวนมากถึงโดยค่าตอบแทนรายเดือนขั้นต่ำ 30,000 บาท ถึง 50,000 บาท ถือว่าต่อปีใช้งบประมาณสูงมากซึ่งค.ร.อ.ท.เห็นว่าเป็นการจ้างและใช้งบประมาณที่เกินความจำเป็นและไม่ได้สร้างความเจริญให้กับอาชีวศึกษาได้อย่างแท้จริงจึงเห็นควรให้มีการเลิกจ้างหรือพิจารณาจ้างกรณีที่มีเหตุจำเป็นจริงๆเท่านั้น ปัจจุบันนี้ยังมีข้อสงสัยถึงการจ้างบุคคลที่เป็นที่ปรึกษามีการจ้างมาต่อเนื่องนานมากบางราย 10 ถึง 15 ปี โดยไม่มีท่าทีว่าจะเลิกสัญญาแต่อย่างใด จึงเป็นข้อสงสัยว่าจ้างเพราะบุคคลนั้นมีความรู้ความสามารถจริงหรือเพราะแค่การตอบผู้มีบุญคุณต่อกัน และในการต่อสัญญาแต่ละปีมีการประเมินผลงานหรือการแสดงผลงานเพื่อให้มีการจ้างต่อหรือไม่
นายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีที่ปรึกษาที่ใกล้ชิดกับผู้บริหารระดับสูงในอาชีวะได้รับการเสนอแต่งตั้งให้เป็นบอร์ดอาชีวะให้ได้ดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันในเวลาเดียวกันโดยบุคคลบางคนที่เป็นที่ปรึกษาจะได้รับการปูนบำเหน็จตำแหน่ง 3-4 ตำแหน่งซึ่งมันเป็นเรื่องที่สังคมสงสัยว่าเป็นการให้ประโยชน์เกื้อกูลต่อกันมากกว่าความรู้ความสามารถของบุคคลนั้นหรือไม่
ในขณะที่วิทยาลัยขนาดเล็กที่มีความขาดแคลนทรัพยากร งบจ้างครู ก็ไม่จ้างตามวุฒิ เจ้าหน้าที่ธุรการก็จ้างไม่ตามวุฒิ แต่ไม่ได้รับความใส่ใจที่จะแก้ปัญหาจากผู้บริหารระดับสูงแต่อย่างใด ถ้ายกเลิกการจ้างที่ปรึกษาและนำเงินค่าจ้างดังกล่าวไปช่วยเจือจุนและแก้ปัญหาให้กับวิทยาลัยขนาดเล็กน่าจะเกิดประโยชน์ต่อวิทยาลัยมากกว่า
นายเศรษฐศิษฏ์ ณุวงค์ศรี ประธาน ค.ร.อ.ท.จึงได้ทำหนังสือเสนอถึงท่านนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาสั่งการให้มีการตรวจสอบ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้ยกเลิกการจ้างที่ปรึกษาชุดดังกล่าวหรือถ้ามีการจ้างก็ให้จ้างเท่าที่จำเป็นเพื่อประหยัดงบประมาณของแผ่นดินซึ่งเป็นภาษีของประชาชน รวมถึงขอให้ตรวจสอบการที่ผู้บริหารระดับสูงได้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการสภาสถาบันตามมาตรา 25(3)ในสถาบันการอาชีวศึกษาหลายแห่งในช่วงที่ผ่านมา โดยใช้อำนาจแต่งตั้งพวกพ้องบริวารให้ไปได้ตำแหน่งทั้งที่ไม่เป็นไปตามกฎกระทรวงที่กำหนดคุณสมบัติของกรรมการสภา เป็นการบั่นทอนหรือการจำกัดสิทธิ์ปิดกั้นผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่จะได้มาช่วยสร้างสถาบันการอาชีวศึกษาให้เจริญก้าวหน้า และถือเป็นโอกาสดีที่คณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งเลขาอาชีวศึกษาคนใหม่ค ร.อ.ท.หวังที่จะได้เห็นผู้บริหารระดับสูงคนใหม่มาสานต่อสร้างสิ่งดีๆและพัฒนาการอาชีวะให้เจริญก้าวหน้าเปลี่ยนแปลงและมีหลักธรรมาภิบาลต่อไป