In News

รัฐฯพร้อมสนับสนุนเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพดี ชู'พันธุ์ไททาจิ'บูมเศรษฐกิจ5จชต.



กรุงเทพฯ-รัฐบาลพร้อมสนับสนุน เลี้ยงโคเนื้อคุณภาพดี ”พันธุ์ไททาจิ” บูมเศรษฐกิจห้าจังหวัดชายแดนใต้ ส่งออกตลาดฮาลาล

วันที่ 7 กันยายน 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 65 คณะรัฐมนตรีได้รับทราบการขับเคลื่อนกิจกรรมโคบาลชายแดนใต้ ภายใต้โครงการเมืองปศุสัตว์ ระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล จ. ชายแดนภาคใต้ ระยะ 7 ปี (พ.ศ. 2565-2571) กรอบวงเงิน 1560.50 ล้านบาท โดยให้ ศอ.บต. และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ โดยมีเป้าหมายขยายปริมาณการเลี้ยงโคคุณภาพดี และยกระดับคุณภาพการผลิตเนื้อเข้าสู่มาตรฐาน GMP และฮาลาล เพื่อส่งออกทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศโลกมุสลิม ที่ต้องการเนื้อเกรดดีและฮาลาลไว้เพื่อบริโภค ทั้งนี้ ตามกรอบระยะเวลาของแผน คาดจะสามารถสร้างอาชีพการเลี้ยงโคเนื้ออย่างยั่งยืนแก่กลุ่มเกษตรกร 1,000 กลุ่ม เกษตรกร 10,000 ราย แม่โคพันธุ์ดี 50,000  ตัว

โดยการดำเนินงานแบ่งเป็นสามระดับคือระดับต้นน้ำ เน้นการพัฒนาความรู้เกษตรกรส่งเสริมวิสาหกิจโคไทยในหมู่บ้าน จำนวน 1,000 กลุ่มในพื้นที่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล) เพื่อผลิตโคลูกผสม “สายพันธุ์ไทยทาจิ” และปลูกพืชอาหารสัตว์ที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงโค

ระดับกลางน้ำ จะเป็นการส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์การแปรรูปอาหารสัตว์เพื่อจำหน่ายการก่อสร้างโรงฆ่าสัตว์ชุมชนพร้อมโรงตัดแต่งและแปรรูปเนื้อสัตว์ห้องเย็น ยกระดับคุณภาพการผลิตเนื้อคุณภาพเข้าสู่มาตรฐาน GMP และฮาลาล

ระดับปลายน้ำ มีกิจกรรมสำคัญคือการส่งเสริมร้านตัดแต่งแปรรูปเนื้อสัตว์ (Butcher Shop) และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อโคเป็นสินค้าเกษตรมูลค่าสูงในชุมชน รวมถึงส่งเสริมการตลาดในประเทศและการค้าระหว่างประเทศ

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า “โคสายพันธุ์ไททาจิ” เป็นสายพันธุ์พื้นเมืองที่เหมาะกับสภาพภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี พระราชทานแม่พันธุ์โคแก่กรมปศุสัตว์ เพื่อเป็นแม่พันธุ์ ต่อยอดการเลี้ยงโคในประเทศ

“ตลาดเนื้อโคในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2,000 ล้านบาท มีความต้องการบริโภคหลายหมื่นตัวต่อปี และยังมีตลาดในโลกมุสลิมที่มีความต้องการบริโภคเนื้อคุณภาพดีอีกมาก แต่ที่ผ่านมาการเลี้ยงโคในพื้นที่มีน้อยกว่าความต้องการ รัฐบาลจึงเห็นโอกาสในการส่งเสริมเนื้อโคคุณภาพฮาลาล เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร ต่อยอดจากการเป็นเพียงผู้เลี้ยง ให้สามารถแปรรูป และรวมกลุ่มกันส่งออกไปต่างประเทศได้ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มขับเคลื่อนการให้ความรู้แก่เกษตรกรแล้ว และได้รับความสนใจอย่างมาก” นางสาวรัชดา กล่าว