In Thailand
'ธนาธร'พาแกนนำก้าวหน้าลงมุกดาหาร หารือแนวทางพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน
มุกดาหาร - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ลงพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน โดยในช่วงเช้าได้ลงสำรวจพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำโขง ที่ อบต.โพธิ์ไทร มีแผนพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ช่วงบ่ายลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการกองทุนขยะเพื่อฌาปนกิจ ณ จุดรับซื้อขยะ วัดมงคลโสภา ต.โพนทราย
เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า พร้อมด้วยคณะ ลงพื้นที่ตำบลโพธิ์ไทรอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร โดยมีนาย นายนพดล ฉัยยา นายก อบต.โพธิ์ไทร พร้อมด้วยชาวบ้าน ให้การต้อนรับ
โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ลงพื้นที่เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน โดยในช่วงเช้าได้ลงสำรวจพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำโขง ที่ อบต.โพธิ์ไทร มีแผนพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก่อนที่จะเดินทางมายังสำนักงาน อบต.โพธิ์ไทร เพื่อประชุมหารือในรายละเอียดร่วมกันในโครงการต่างๆซึ่งที่ผ่านมา อบต.โพธิ์ไทร และคณะก้าวหน้า ได้มีความจำนงในการทำงานร่วมกันมาได้ระยะหนึ่งแล้ว
สืบเนื่องมาจากความสำเร็จขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสังกัดคณะก้าวหน้าหลายแห่งในภาคอีสาน ในการพัฒนานโยบาย ที่ได้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่ทีมผู้บริหาร อบต.โพธิ์ไทร จนนำมาสู่การประสานเพื่อขอคำปรึกษาและความร่วมมือกัน ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาโดยที่ผ่านมา ทีมทำงานของคณะก้าวหน้าได้ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาและทำงานร่วมกับ อบต.โพธิ์ไทร ในสองโครงการด้วยกัน ประกอบด้วย โครงการกองทุนขยะเพื่อการฌาปนกิจ ที่มีเป้าหมายในการรณรงค์ให้เกิดการคัดแยกขยะจากครัวเรือน เปลี่ยนขยะให้เป็นสวัสดิการทางสังคมในลักษณะของกองทุนฌาปนกิจ ที่จะช่วยสนับสนุนสมาชิกของกองทุนในค่าใช้จ่ายการจัดการศพเมื่อมีสมาชิกครอบครัวของกองทุนเสียชีวิตลง ซึ่งคณะก้าวหน้าได้เข้ามาให้การสนับสนุนแก่ อบต. ในการจัดประชาคมเพื่อรับสมาชิกเข้ากองทุนดังกล่าว
โดยปัจจุบันมีความคืบหน้าในการรับสมัครสมาชิกแล้ว 263 ครัวเรือน จาก 1,194 ครัวเรือน โครงการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำโขงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางน้ำและทางบก ที่นายธนาธรและนายก อบต.โพธิ์ไทร ได้ร่วมกันลงพื้นที่สำรวจเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ซึ่งทาง อบต. ได้ขอการสนับสนุนจากคณะก้าวหน้ามา และคณะก้าวหน้าก็ได้มีการส่งสถาปนิกลงสำรวจพื้นที่ ศึกษา และจัดทำข้อเสนอแนะให้กับ อบต.โพธิ์ไทร เป็นการเบื้องต้นไปแล้ว ก่อนที่จะมีการพบปะกันระหว่างนายธนาธรและนายก อบต.โพธิ์ไทร ในวันนี้ ซึ่งการสำรวจเบื้องต้นพบว่าพื้นที่ที่ อบต.โพธิ์ไทร สามารถเข้าไปใช้สอยได้เพื่อการพัฒนา มีเนื้อที่ด้วยกันทั้งหมดเป็นความยาวถึง 13 กิโลเมตรทอดยาวไปตามแนวแม่น้ำโขง มีความกว้างจากริมฝั่งแม่น้ำโดยเฉลี่ย 10 เมตร และด้วยสภาพของพื้นที่ที่มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ทำให้มีศักยภาพในการพัฒนาที่สูงมาก ซึ่งทางนายก อบต.โพธิ์ไทร และทีมทำงานของคณะก้าวหน้า จะได้มีการหารือในการจัดทำรายละเอียดของโครงการต่อไป
ทั้งนี้ ในการประชุมร่วมกันระหว่างนายธนาธรและคณะผู้บริหาร อบต.โพธิ์ไทร ยังได้มีการนำเสนอผลงานที่ผ่านมาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในสังกัดคณะก้าวหน้าหลายแห่ง ทั้งในเรื่องของการปรับปรุงระบบน้ำประปา การสนับสนุนและอบรมครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก การพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยว การจัดการขยะ ซึ่งนายธนาธรระบุว่าหากทาง อบต.โพธิ์ไทร มีความสนใจอยากพัฒนาในเรื่องใดเป็นพิเศษ นอกจากที่คณะก้าวหน้าได้ลงมาให้คำปรึกษาเป็นการเบื้องต้นเอาไว้อยู่แล้ว ทางตนและคณะก้าวหน้าก็พร้อมเข้ามาให้คำปรึกษาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ร่วมกันในอนาคตต่อไป
หลังจากนั้นนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พร้อมคณะ ได้ร่วมลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการกองทุนขยะเพื่อฌาปนกิจ ณ จุดรับซื้อขยะ วัดมงคลโสภา ต.โพนทราย อ.เมือง จ.มุกดาหาร ร่วมกับ นายทองออน สิงห์สุ นายก อบต.โพนทราย โดยกิจกรรมรับซื้อขยะมีการดำเนินการเดือนละหนึ่งรอบ โดยกิจกรรมในส่วนของวันนี้เป็นการดำเนินการในรอบที่ 4 แล้วจากการเยี่ยมชมและพูดคุยกับทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนที่นำขยะมาขาย พบว่าการจัดการของ อบต.โพนทราย โดยเป็นการรับซื้อจากสมาชิกของกองทุน หลังจากนั้นจึงให้พนักงานของ อบต. มาทำการแยกประเภทอย่างละเอียดอีกครั้ง ออกเป็นถึง 57 รายการ แล้วจึงขายต่อให้ผู้รับเหมา เป็นการซื้อขายในวันเดียวกันจบ เพื่อลดภาระในการขนย้ายและการจัดเก็บ
ทั้งนี้ หลังจากดำเนินการมาได้ 4 เดือนปัจจุบันโครงการกองทุนขยะเพื่อฌาปนกิจ มีสมาชิกกว่า 600 ครัวเรือนแล้ว จากราว 2,500 ครัวเรือนของตำบลโพนทราย โดยมียอดรับซื้อเฉลี่ยอยู่ที่ 50 ตันต่อเดือน รายได้รวมทั้งหมดกว่าแสนบาท ในส่วนของการสนับสนุนการฌาปนกิจศพให้กับสมาชิกของกองทุนนั้น ตั้งแต่ดำเนินโครงการมา มีสมาชิกของกองทุนเสียชีวิตไปแล้ว 3 ราย ทาง อบต.โพนทราย ได้สนับสนุนค่าใช้จ่ายเป็นรายละประมาณ 5,000 บาท
ส่วนข้อที่ต้องปรับปรุงในการดำเนินการนั้น ส่วนมากเป็นเรื่องของการสร้างความเข้าใจต่อสมาชิกกองทุน ให้มีการแยกประเภทที่ละเอียดมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาสมาชิกของกองทุนก็ได้มีการพัฒนาความรู้ความเข้าใจมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีความเข้าใจที่มากขึ้นแล้วในการแยกประเภทของขยะ ซึ่งหากมีการแยกอย่างละเอียดมากขึ้น ก็จะส่งผลดีต่อทั้ง อบต. ในด้านการบริหารจัดการ และราคารับซื้อจากชาวบ้านที่จะสูงขึ้นด้วย ….
อนุศักดิ์ - เสาวภา แสนวิเศษ // มุกดาหาร