In Thailand

ชัยภูมิเปิดศูนย์เรียนรู้มันสำปะหลังสาธิต การปลูก-แปลงพืชสมุนไพรสร้างอาชีพ



ชัยภูมิ-เปิดศูนย์เรียนรู้มันสำปะหลัง แปลงสาธิตเพาะปลูกมันสำปะหลัง และแปลงพืชสมุนไพร มุ่งพัฒนาคุณภาพการศึกษา สร้างอาชีพ-รายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนอย่างยั่งยืน

กลุ่มบริษัท เอส เอ็ม เอส  หนึ่งในกลุ่มบริษัทพูลผล ซึ่งก่อตั้งมากว่า 37 ปี ผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลังดัดแปรที่สำคัญของประเทศไทยและของโลก โดยเป็นผู้ริเริ่มนำแป้งมันสำปะหลังซึ่งเป็นสินค้าสำคัญทางการเกษตรมาดัดแปรโดยใช้เทคโนโลยีอันทันสมัย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่มันสำปะหลัง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อาหาร กระดาษ สิ่งทอ กาว อาคารและสิ่งก่อสร้าง รวมถึงพลาสติกชีวภาพ โดยมีโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปรอยู่ทั้งหมด 3 แห่ง ที่ปทุมธานี ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมประมาณ 400,000 ตันต่อปี ส่งผลให้ SMS Group ครองตำแหน่งเป็นผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังดัดแปรของคนไทยรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้ ในฐานะผู้นำในอุตสาหกรรม และการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและชุมชน นอกเหนือจากความโดดเด่นในเรื่องของเทคโนโลยี และความพร้อมของระบบงานวิจัยและพัฒนาแล้ว สิ่งที่  SMS Group ให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ การดำเนินการเพื่อสร้าง “ความยั่งยืน” ทั้งภายในองค์กรและส่วนรวม โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนแวดล้อม ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่บริษัทฯ ยึดมั่นมาโดยตลอด หนึ่งในโครงการที่ถือเป็นการตอบโจทย์ในเป้าหมายดังกล่าว คือ การทำ MOU ความร่วมมือโครงการ "โรงเรียนร่วมพัฒนา" (MOU-Partnership School Project) โรงเรียนมันสำปะหลัง จ.ชัยภูมิ แห่งแรกของไทย ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 2 ปีที่แล้ว โดยบริษัทฯ ได้เลือก “โรงเรียนชุมชนบ้านหนองแวง” (คุรุราษฎร์อุปถัมภ์) ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านหนองแวงศรีพัฒนา ต.บ้านเพชร อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ใกล้กับที่ตั้งโรงงานของบริษัทฯ เป็นโรงเรียนนำร่องความคืบหน้าล่าสุด มูลนิธิทองพูล หวั่งหลี และ โรงเรียนชุมชนบ้านหนองแวง” (คุรุราษฎร์อุปถัมภ์) ได้จัดพิธีลงนามส่งมอบศูนย์เรียนรู้มันสำปะหลัง  แปลงสาธิตเพาะปลูกมันสำปะหลัง และแปลงพืชสมุนไพร พร้อมทำการเปิดศูนย์เรียนรู้ฯ อย่างเป็นทางการ ณ อาคารอเนกประสงค์  โรงเรียนชุมชนบ้านหนองแวง (คุรุราษฎร์อุปถัมภ์) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 3 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565

นาย  อภิชาต หวั่งหลี กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิทองพูล หวั่งหลี เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของแนวคิดโรงเรียนมันสำปะหลัง เกิดจากนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ที่ออกเยี่ยมโรงงานของ SMS เมื่อปี 2562 และได้ให้คำแนะนำในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ที่ให้เน้น “เด็กนักเรียน” เป็นศูนย์กลางในการพัฒนา มากกว่านั้น โครงการ "โรงเรียนร่วมพัฒนา" (MOU-Partnership School Project) โรงเรียนมันสำปะหลัง ยังสอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และอาชีพของคนในท้องถิ่น เนื่องจาก จ.ชัยภูมิ มีรายได้หลักคือปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งจะช่วยสร้างอาชีพ และรายได้ให้กับคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับมันสำปะหลัง จะถูกพัฒนาและเริ่มต้นจากที่นี่ ซึ่งมิได้จำกัดเฉพาะการเรียนรู้เรื่องการปลูกผลิตมันสำปะหลังเท่านั้น แต่รวมถึงการแปรรูป การนำผลิตภัณฑ์แป้งมันลำปะหลังพัฒนาไปสู่เมนูต่างๆ โดยดำเนินงานร่วมกับโรงเรียน เชื่อมโยงกระบวนการพัฒนาเด็กและเยาวชนผ่านนักเรียนหรือลูกหลานของคนในชุมชน ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาชุมชนและสังคมที่ยั่งยืน 

ดร.วีรวัฒน์ เลิศวนวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท SMS  กล่าวว่า โครงการนี้ มีความสอดคล้องกับกลยุทธ์ด้าน CSR ของบริษัทฯ ที่มุ่งสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนรอบๆ โรงงาน เพื่อก้าวไปสู่วิสัยทัศน์ “SMS Group จะเป็นผู้นำ ทางด้านนวัตกรรม การดัดแปรแป้งมันสำปะหลังและเป็นพันธมิตรที่ คู่ค้าไว้วางใจ" รวมถึงขับเคลื่อนสู่การเป็นองค์กรต้นแบบที่ดีของสังคมในการดำเนินกิจการ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสังคม ชุมชน โดยเฉพาะด้านการศึกษา“เราเล็งเห็นความสำคัญของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน และพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ด้วยความเชื่อว่า การก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนจะเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนองค์กร และเสริมศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยได้อย่างมั่นคง”  

ด้าน นาย  สมศักดิ์ แก้วเพชร ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านหนองแวง (คุรุราษฎร์อุปถัมภ์) กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างบริษัท สยาม ควอลิตี้ สตาร์ช จำกัด และมูลนิธิทองพูล หวั่งหลี ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่ให้การสนับสนุน โดยนำ "มันสำปะหลัง" ที่เป็นองค์ประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน มาสร้างทักษะอาชีพในมิติต่างๆ ให้กับเด็ก และคนในชุมชน โดยมีภาครัฐ หน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ ในจังหวัดชัยภูมิ ร่วมผลักดันอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างทักษะ ความรู้ ความเข้าใจในด้านวิชาชีพที่เกี่ยวกับมันสำปะหลัง ให้กับเด็กๆ สามารถนำต้นทุนมาพัฒนาสร้างงาน สร้างอาชีพให้ตนเองได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว                                                                                                                                           /                                                    /// จบข่าว/////