In Bangkok
กทม.จัดมาตรการเชิงรุกป้องกันแพร่ระบาด โรคไข้เลือดออกในกรุงเทพฯ

กรุงเทพฯ-สำนักอนามัย สำนักการแพทย์และสำนักการศึกษา กทม.จัดมาตรการเชิงรุกป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกในกรุงเทพฯ
นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวกรณีมีการตั้งข้อสังเกตขณะนี้ประเทศไทยหลายพื้นที่มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง เกิดน้ำท่วมขัง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของลูกน้ำยุงลาย ทำให้สถานการณ์โรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1 - 20 ส.ค.65 มีผู้ป่วย 333 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตในกรุงเทพฯ ถือว่าสถานการณ์ในกรุงเทพฯ มีความรุนแรงน้อยกว่าจังหวัดอื่น อย่างไรก็ตาม สำนักอนามัย กทม.มีมาตรการเชิงรุกในการป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออกในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ การเฝ้าระวังไม่ให้มีลูกน้ำยุงลาย ทุกพื้นที่เสี่ยง ได้แก่ ชุมชน หมู่บ้านจัดสรร ห้องชุดอาคารสูง สถานพยาบาล สถานศึกษา สถานประกอบการ และศาสนสถาน โรงแรม รีสอร์ท โรงงาน และสถานที่ราชการต่าง ๆ โดยคว่ำภาชนะ การใส่ทรายทีมีฟอส ขณะเดียวกันได้ขอความร่วมมือภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชนปฏิบัติตามหลัก 5 ป. คือ ปิด - ปิดฝาภาชนะให้สนิท ปล่อย - ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เปลี่ยน - เปลี่ยนน้ำในภาชนะที่ปิดไม่ได้ ปรับ - ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ปฏิบัติ - ปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดหน่วยรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันการเกิดโรคติดต่อที่นำโดยยุงลาย ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา โรคชิคุนกุนยา ตรวจสอบภาชนะในพื้นที่ไม่ให้มีลูกน้ำยุงลาย เฝ้าระวังดัชนีลูกน้ำยุงลาย Container Index
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า สำนักการแพทย์ ได้เตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ด้วยการตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพื่อแยกประเภทของกลุ่มโรคตามอาการ เพื่อให้สามารถค้นพบโรคและวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว ตามแนวทางการวินิจฉัยและรักษาโรคของโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัด กทม.เพื่อลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยของโรค ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ตลอดจนกำหนดแนวทางและมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ขณะเดียวกันได้ประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงผู้ปกครอง ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณชุมชนและรอบบ้าน รวมทั้งสังเกตอาการสำคัญที่ต้องพบแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงหากป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน หากคนในครอบครัวมีอาการไข้สูง ให้หลีกเลี่ยงการซื้อยารับประทานเอง หากจำเป็นให้ใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ยาไอบรูโปรเฟน แอสไพริน หรือยาแก้ปวดไดโคลฟิแนก เพราะยากลุ่มนี้ อาจมีผลทำให้เลือดออกมากขึ้น นอกจากนั้น ยังได้จัดกิจกรรมรณรงค์จิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อม กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย บริเวณชุมชนรอบโรงพยาบาลสังกัด กทม.พร้อมทั้งจัดกิจกรรม Big Cleaning Day เป็นประจำทุกเดือน เพื่อสุขอนามัยที่ดีของผู้เข้าใช้บริการ รพ. โดยมีกิจกรรมรณรงค์แนวทางและมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ได้แก่ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายใน รพ.และชุมชนโดยรอบ ให้ความรู้เรื่องการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย รวมถึงการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด ให้ผู้ที่มารับบริการใน รพ.และชุมชนรอบ รพ.ผ่านสื่อออนไลน์ และรับส่งต่อผู้ป่วยจากหน่วยบริการปฐมภูมิ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย หากมีอาการไข้สูงเกือบตลอดเวลา 2 - 7 วัน และมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ หรือมีผื่น หรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา และอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้อง
นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวว่า สำนักการศึกษา ได้ขอความร่วมมือสำนักงานเขตแจ้งโรงเรียนในสังกัดให้ดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ประกอบด้วย (1) สำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในโรงเรียน เพื่อลดความหนาแน่นของยุงพาหะนำโรค (2) ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกและโรคติดต่อนำโดยยุงลายอื่น โดยสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารสถานการณ์โรคติดต่อนำโดยยุงลายผ่านเว็บไซต์สำนักอนามัย www.bangkok.go.th/health หากพบผู้ป่วยให้รายงานเข้าสู่ระบบเฝ้าระวังโรค และควบคุมโรคทันที และ (3) สร้างความรู้ความเข้าใจนักเรียนในโรงเรียน ได้แก่ โรคอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากยุงลาย การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายในโรงเรียน และที่บ้านของนักเรียน เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง เพื่อไม่ให้ยุงมีที่เกาะพัก เก็บขยะที่อาจเป็นแหล่งน้ำขัง ให้ยุงลายวางไข่ได้.เก็บน้ำให้มิดชิด ด้วยการปิดฝาภาชนะ หากปิดไม่ได้ให้เทน้ำทิ้ง ทำเป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อไม่ให้ยุงลายวางไข่ รวมถึงให้ความรู้วิธีการป้องกันยุงกัด อาการที่ควรไปพบแพทย์ และวิธีดูแลตนเองเมื่อสงสัยป่วยเป็นโรคติดต่อนำโดยยุงลาย