EDU Research & ESG

คณาจารย์-ศิษย์เก่า-นักศึกษาม.กาฬสินธุ์ ครบรอบ7ปีสถาปนามหาวิทยาลัย



กาฬสินธุ์-คณาจารย์ คณะศิษย์เก่า นักศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ร่วมทำบุญตักบาตร เพื่อความเป็นสิริมงคล และเชิญตราสัญลักษณ์ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ในโอกาสครบรอบ 7 ปี วันสถาปนามหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พร้อมมอบโล่เชิดชูเกียรติบุคลากร ศิษย์เก่า นักศึกษา ที่มีผลงานดีเด่น สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 9 กันยายน 2565 ที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พื้นที่ในเมือง รศ.จิรพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยกรรมการสภามหาวิทยาลัย ศิษย์เก่า คณาจารย์ นักศึกษา ร่วมทำบุญตักบาตร เพื่อความเป็นสิริมงคล ในโอกาสวันสถาปนามหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ครบรอบ 7 ปี 

จากนั้นขบวนนักศึกษาได้เชิญตราสัญลักษณ์ “ธง” มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์  นายปราชญา  อุ่นเพชรวรากร  รองผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ “มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์กับการพัฒนา จ.กาฬสินธุ์”  ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ราชบัณฑิต นายกสภามหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “การพัฒนาท้องถิ่นด้วยนวัตกรรม” 

โดยในโอกาสครบรอบ 7 ปี วันสถาปนามหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์  ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ราชบัณฑิต นายกสภามหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ยังได้มอบโล่เชิดชูเกียรติให้กับผู้ทำคุณประโยชน์ โดยเฉพาะพลตำรวจตรีมนตรี จรัลพงศ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิกาฬสินธุ์ ได้รับประกาศเกียรติคุณผู้ทำประโยชน์ช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมของมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ รวมทั้งมีการมอบให้กับศิษย์เก่าดีเด่น คณาจารย์ประจำดีเด่นด้านอุทิศตนและเสียสละ ด้านการวิจัย ด้านการพัฒนาตนเอง  บุคลากรสายสนับสนุนดีเด่นด้านการอุทิศตนและเสียสละ ด้านการพัฒนาตนเอง  นักศึกษาทำกิจกรรมดีเด่น  นักศึกษาสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์  และมอบทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาด้วย

อย่างไรก็ตาม ภายในงานยังมีการแสดงศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งทอพื้นเมืองแพรวากาฬสินธุ์ จัดแสดงผ้าไหมแพรวา ผ้าพื้นเมืองที่มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้ลงพื้นที่ให้ความรู้ในการพัฒนาผ้าแพรวา ผ้าพื้นเมือง ของ จ.กาฬสินธุ์ ให้มีหลากหลาย เพิ่มมูลค่าทางตลาด สร้างรายได้ให้กับชุมชน   “มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น”
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ให้การสนับสนุน จ.กาฬสินธุ์ด้วยดีเสมอมาในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในการพัฒนา จ.กาฬสินธุ์ ตามเป้าหมายการพัฒนา ที่ว่า“ มั่งคั่งด้วยเกษตรปลอดภัย ท่องเที่ยววิถีใหม่ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”  ที่ผ่านมา โดยได้ดำเนินงานสนับสนุนภารกิจของจังหวัดในหลายภารกิจ เช่น การแก้ไขปัญหาความยากจนให้ลดลง โดยดำเนินการ ผ่านกระบวนการวิจัยอย่างต่อเนื่อง ร่วมเป็นการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) กาฬสินธุ์

นอกจากนี้ ยังมีโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG มหาวิทยาลัยสู่ตำบล (U2T for BCG) ภายใต้การขับเคลื่อนหรือโครงการของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการพัฒนาและขับเคลื่อนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคม ทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (bio) เศรษฐกิจหมุนเวียน (circular) เศรษฐกิจสีเขียว (green) และสร้างความรู้ ความเข้าใจ สร้างการมีส่วนรวมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ด้วยยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG และกิจกรรมการพัฒนา ส่งเสริมและผลักดันผลิตภัณฑ์และบริการ BCG ของชุมชนอย่างเป็นระบบและยั่งยืนในกรอบระยะเวลาการดำเนินกิจกรรมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565 มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการ/กิจกรรม ในพื้นที่ตำบลเดิม 20 ตำบล พื้นที่ตำบลใหม่ 59 ตำบล รวมทั้งหมด 79 ตำบล ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จ.กาฬสินธุ์ 75 ตำบล, จ.มุกดาหาร 1 ตำบล และ จ.อำนาจเจริญ 3 ตำบลโดยเฉพาะพื้นที่ใน จ.กาฬสินธุ์ ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและสังคมฐานรากเป็นอย่างดี