In News

รัฐฯจับมือสถาบันการเงินช่วยผู้มีหนี้สินอีก ชู'มหกรรมร่วมใจแก้หนี้'เริ่ม26ก.ย.นี้



กรุงเทพฯ-หน่วยงานรัฐจับมือสถาบันการเงินช่วยเหลือผู้มีปัญหาหนี้สินต่อเนื่อง จบมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้กระทรวงยุติธรรมแล้ว ยังมี “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้” ของคลังและแบงก์ชาติเริ่ม 26 ก.ย.นี้ ขณะ “คลินิกแก้หนี้”ผ่อนเกณฑ์ครอบคลุมผู้ร่วมโครงการมากขึ้น

วันที่ 12 กันยายน 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาการชำระหนี้เนื่องจากยังไม่สามารถปรับตัวได้แม้สถานการณ์เศรษฐกิจจะเริ่มดีขึ้นหลังการแพร่ระบาดโควิด19 คลี่คลาย หน่วยงานต่างๆ ได้มีโครงการช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาการชำระหนี้โดยต่อเนื่อง
 
สำหรับโครงการที่เพิ่งสิ้นสุดลงไป คือ มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ของกระทรวงยุติธรรม ที่ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถาบันการเงินทั้งของรัฐและเอกชน ดำเนินการไกล่เกลี่ยหนี้ตั้งแต่เดือน ก.พ. 65 เป็นต้นมารวม 77 ครั้ง ใน 77 จังหวัด ช่วยเหลือประชาชนทั้งสิ้น 78,520 คน ทุนทรัพย์ 19,487 ล้านบาท ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ค่าธรรมเนียมศาล ค่าทนายความ 5,905 ล้านบาท
 
นอกจากนี้ กระทรวงยุติธรรมยังได้จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้รอบเก็บตก ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 8-11 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา ข้อมูล 3 วันแรก (8-10 ก.ย.) มีลูกหนี้ของสถาบันการเงิน รวมถึง กยศ. เข้าร่วมกว่า 6,000 คน มีผู้ยื่นขอไกล่เกลี่ย 5,023 คน ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 4,787 คน รวมทุนทรัพย์ 1,648 ล้านบาท สามารถลดค่าใช้จ่ายประชาชนได้ 405 ล้านบาท
 
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า หลังสิ้นสุดโครงการของกระทรวงยุติธรรมแล้ว ประชาชนที่มีปัญหาการชำระหนี้ ยังสามารถเข้าร่วม “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ดำเนินการโดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะเป็นการเปิดช่องทางการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ซึ่งมีสถาบันการเงินทั้งธนาคารและนอนแบงก์ บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน (บบส.) เข้าร่วม 56 แห่ง ครอบคลุมสินเชื่อ ทั้งที่อยู่อาศัย บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์/จักรยานยนต์ จำนำทะเบียน
 
มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ จะแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 ดำเนินการระหว่างวันที่ 26 ก.ย.-30 พ.ย. 65 เป็นการไกล่เกลี่ยหนี้ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยผู้ที่สนใจเข้าร่วมสามารถลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย www.bot.or.th  หรือติดต่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน โทรศัพท์ 1213 หรือ E-mail : fcc@bot.or.th
 
สำหรับระยะที่2 จะเป็นการสัญจรไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ระหว่างเดือน พ.ย. 65-ม.ค. 66 ซึ่งจะมีทั้งการเจรจาแก้ปัญหาหนี้เดิม ให้คำปรึกษาเสริมทักษะด้านการเงิน และให้สินเชื่อเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่จำเป็น ส่วนวัน เวลา สถานที่ที่จะจัดงาน ธปท. และกระทรวงการคลังจะแจ้งให้ทราบต่อไป
 
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า  นอกจากโครงการไกล่เกลี่ยหนี้ดังกล่าวมาแล้ว ยังมีโครงการช่วยเหลือผู้ที่เป็นหนี้เสีย (NPL) คือโครงการคลินิกแก้หนี้ ดำเนินการโดย ธปท. ร่วมกับสถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชน ที่ล่าสุด คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการคลินิกแก้หนี้ (กคน.) ได้ปรับปรุงเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ในโครงการคลินิกแก้หนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ใน  2 เรื่อง ได้แก่ 1) ปรับเกณฑ์คุณสมบัติการสมัครเข้าร่วมโครงการ ให้ครอบคลุมลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPL จากเดิม ก่อนวันที่ 1 เม.ย. 65 เป็นก่อนวันที่ 1 ก.ย. 65 เพื่อรองรับหนี้เสียรายใหม่ให้สามารถเข้าร่วมโครงการได้มากขึ้น
 
2)ปรับทางเลือกการปรับโครงสร้างหนี้ จากเดิมที่มีทางเลือกเดียวเป็น 3 ทางเลือก เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้ที่อาจมีศักยภาพชำระหนี้มากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ได้แก่ 1.ผ่อนชำระไม่เกิน 4 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี 2. ผ่อนชำระนานกว่า 4 ปี แต่ไม่เกิน 7 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี และ 3.ผ่อนชำระนานกว่า 7 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี
 
โดยผู้สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถสมัครผ่านทางเว็บไซต์ www.คลินิกแก้หนี้.com หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ โทรศัพท์ 1213