In Bangkok
กทม.กำชับรพ.ในสังกัดรับป้องกันน้ำท่วม ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ช่วยปชช.

กรุงเทพฯ-สำนักการแพทย์และสำนักอนามัย กทม.กำชับ รพ.ในสังกัดเตรียมพร้อมป้องกันน้ำท่วม - ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ช่วยเหลือประชาชน
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวกรณีกระทรวงสาธารณสุขกำชับโรงพยาบาล (รพ.) ทุกพื้นที่ เฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์น้ำท่วมไม่ให้กระทบการบริการประชาชนว่า สำนักการแพทย์ ได้สั่งการ รพ.ในสังกัดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์เตรียมพร้อมป้องกันน้ำท่วม สำรวจอาคารสถานที่ โดยเฉพาะระบบน้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย และระบบสำรองไฟฟ้า เพื่อไม่ให้กระทบการให้บริการประชาชน และยก หรือเคลื่อนย้ายครุภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ไปอยู่ในที่ปลอดภัย สำรองยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอสำหรับให้บริการ พร้อมทั้งเฝ้าระวังผลกระทบด้านโรคและภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงออกหน่วยบริการทางการแพทย์เชิงรุก เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และผู้พิการ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ รพ.ในสังกัด กทม.ยังเปิดให้บริการได้ตามปกติทั้ง 11 แห่ง พร้อมทั้งจัดทีมแพทย์ออกปฏิบัติการเชิงรุกสำหรับพื้นที่น้ำท่วมในเขตการดูแลของ รพ. การเตรียมความพร้อมทางการแพทย์รองรับสถานการณ์อุทกภัยและแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์การให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฝ้าระวัง ควบคุม และรักษาพยาบาลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมประสานสำนักอนามัย สำนักงานเขต สำนักการระบายน้ำ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมีศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉิน กทม. (ศูนย์เอราวัณ) ประสานรับส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลกรณีเหตุฉุกเฉิน
นางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า ในส่วนของสำนักอนามัย ได้ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ช่วยเหลือประชาชนบริเวณที่ประสบภัย พร้อมทั้งสนับสนุนยารักษาน้ำกัดเท้า รวมถึงยารักษาโรคอื่น ๆ ที่จำเป็น ออกเยี่ยมบ้านและช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่ที่ประสบภัยและสถานที่เสี่ยง เฝ้าระวังโรคติดต่อที่พบบ่อยช่วงน้ำท่วม รวมถึงช่วยเหลือศูนย์พักพิงที่สำนักงานเขตเปิดบริการประชาชน ขณะเดียวกันได้เตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวังผลกระทบด้านโรคและภัยสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมขังและพิจารณาออกหน่วยบริการทางการแพทย์เชิงรุก เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างเหมาะสม โดยโรคที่มักมากับฤดูฝน ได้แก่ กลุ่มโรคติดต่อของระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ โรคเหล่านี้เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลชีพที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารที่ลำไส้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อาจมีไข้ ปวดบิดในท้อง และหากติดเชื้อบิด อาจมีมูก หรือเลือดปนอุจจาระ ป้องกันได้โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ สะอาด ใช้ช้อนของตนเอง ส่วนกลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผล หรือเยื่อบุผิวหนัง เช่น โรคเลปโตสไปโรซิส หรือไข้ฉี่หนู อาการเด่น คือ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ มักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง และตาแดง ประมาณร้อยละ 5 - 10 ของผู้ป่วยโรคนี้ อาจมีอาการรุนแรง เช่น ดีซ่าน ไตวาย หรือช็อคได้ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ หรือปอดบวม กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุงที่สำคัญ 3 โรค ได้แก่ ไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา ไข้ซิก้า ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis) มียุงรำคาญเป็นพาหะนำโรค ไข้มาลาเรียมียุงก้นปล่องที่อยู่ในป่าเป็นพาหะนำโรค และโรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือโรคตาแดง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา นอกจากนี้ ในช่วงฤดูฝนยังต้องระวังปัญหาน้ำกัดเท้าที่เกิดจากเชื้อรา สาเหตุเกิดจากการแช่น้ำสกปรกนาน ๆ และอันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่องที่หนีน้ำมาอาศัยในบริเวณบ้าน