In News
ครม.เห็นชอบร่างข้อตกลงการรับเงินทุน USTDA พัฒนาภูเก็ตสู่'เมืองอัจฉริยะ'
กรุงเทพฯ-ครม.เห็นชอบ ร่างข้อตกลงการรับทุน (Grant Agreement) โครงการความร่วมมือ Phuket Smart City Technical Assistant Package ระหว่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และองค์การการค้าและการพัฒนาแห่งสหรัฐอเมริกา USTDA พัฒนาภูเก็ตสู่ “เมืองอัจฉริยะ”
วันที่ 13 กันยายน 2565 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบในหลักการ ร่างข้อตกลงการรับทุน (Grant Agreement) โครงการความร่วมมือ Phuket Smart City Technical Assistant Package ระหว่างสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และองค์การการค้าและการพัฒนาแห่งสหรัฐอเมริกา (US Trade and Development Agency: USTDA) ที่เสนอโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
โดยข้อตกลงรับทุน มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 5 ปี วัตถุประสงค์ คือ 1. เพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือทางวิชาการ ในการศึกษา และจัดทำแผน ความช่วยเหลือด้านเทคนิค (Technical Assistance) ให้แก่โครงการภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ และช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นในจังหวัดภูเก็ต 2. เพื่อให้ข้อเสนอแนะด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ การพัฒนาต่อยอดระบบการจัดเก็บและพัฒนาข้อมูลของเมือง (City Data Platform) การพัฒนาศูนย์บัญชาการ สถานการณ์และเหตุการณ์ฉุกเฉิน (Command Center) การประเมินโครงสร้างพื้นฐานของเมือง และ ให้ข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็นรูปธรรม และ 3. เพื่อให้ข้อเสนอแนะด้านการพัฒนาทักษะด้านเทคนิคที่จำเป็น และสนับสนุน การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมบุคคลากรด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
และขอบเขตความร่วมมือภายใต้ข้อตกลงการรับทุนฯ ได้แก่ 1. ร่วมดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะภูเก็ต เพื่อศึกษาและเสนอแผนความช่วยเหลือด้านเทคนิคให้แก่โครงการภูเก็ตเมืองอัจฉริยะ และช่วยให้ข้อเสนอแนะ ด้านนโยบายต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นในจังหวัดภูเก็ต 2. ให้ข้อเสนอแนะด้านเทคนิคโดยละเอียด พร้อมแผนการดำเนินการที่สามารถ นำไปปฏิบัติได้ พร้อมแนวทางเลือก สำหรับการวางแผนการพัฒนาเมือง โครงสร้างพื้นฐาน และการออกแบบ บริการที่มุ่งปรับปรุงการเข้าถึงดิจิทัลของจังหวัดภูเก็ต และการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยจะสนับสนุน ให้เกิดการกำหนดข้อกำหนดของระบบ แพลตฟอร์ม และโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการรวบรวมข้อมูล และ ทบทวนข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ รวมถึงการปรับปรุงในอนาคต