In News

ไทยแสดงจุดยืนร่วมมือในเวทีนานาชาติ UNGA สมัชชาสหประชาชาติครั้งที่ 77



กรุงเทพฯ-​ไทยแสดงจุดยืนร่วมมือระหว่างประเทศในเวทีนานาชาติ UNGA สมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 77

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 ว่า ครม.เห็นชอบร่างเอกสารท่าทีไทยสำหรับการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ (United Nations General Assembly : UNGA) ครั้งที่ 77 ซึ่งจัดประชุมขึ้นในวันที่ 13 กันยายน 2565 ตามเวลานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา การประชุมครั้งนี้ ได้กำหนดหัวข้อหลักในการประชุม คือ "ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง: ทางออกที่พลิกรูปแบบเพื่อรับมือความท้าทายที่เชื่อมโยงกัน" (A watershed moment: transformative solutions to interlocking challenges) ซึ่งไทยพร้อมแสดงท่าทีในการประชุม รวมทั้งสิ้น  9 หมวด ประกอบด้วย

หมวด A การส่งเสริมการพัฒนาและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ติดตามประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุล โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ การสนับสนุนแหล่งพลังงานใหม่ พลังงานหมุนเวียน และการจัดการภัยพิบัติ รวมทั้งย้ำความมุ่งมั่นและบทบาทของประเทศไทยในการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 การพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความร่วมมือใต้-ใต้เพื่อการพัฒนา การพัฒนาสังคม ความก้าวหน้าของสตรี เศรษฐกิจระหว่างประเทศ และความมั่นคงทางอาหาร 

หมวด B การรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ย้ำบทบาทที่แข็งขันและต่อเนื่องของประเทศไทยในการปฏิบัติการรักษาสันติภาพต่างๆ และให้ความสำคัญกับการดำเนินงานด้านสันติภาพของสหประชาชาติ การแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยอย่างยั่งยืน
หมวด C การพัฒนาทวีปแอฟริกา ย้ำเจตนารมณ์ของประเทศไทย อาทิ 1.กระชับความสัมพันธ์ด้านการเมืองและความมั่นคง 2.รักษาและส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจ 3.ผลักดันความเชื่อมโยงคมนาคมทางอากาศและทางทะเลระหว่างไทยกับภูมิภาคแอฟริกา

หมวด D การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ให้ความสำคัญกับรายงานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิผู้เปราะบาง รวมทั้งเด็ก สตรี คนพิการ และผู้สูงอายุ การขจัดการเหยียดผิวและการเลือกปฏิบัติด้านเชื้อชาติ 

หมวด E การประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ  สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเป็นกรณีพิเศษ และให้ความสำคัญกับความร่วมมือและความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม อันเป็นผลมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยประเทศไทยแสดงความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการประสานงานให้ความช่วยเหลือในภูมิภาค

หมวด F การส่งเสริมความยุติธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ ให้ความสำคัญกับรายงานของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission - ILC) และรายงานของคณะกรรมาธิการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (United Nations Commission on International Trade Law - UNCITRAL) โดยสนับสนุนการทำงานในการยกร่างและรับรองเอกสารต่าง ๆ 

หมวด G การลดอาวุธ สนับสนุนประเด็นการลดและขจัดอาวุธนิวเคลียร์ รวมทั้งผลกระทบด้านมนุษยธรรมจากอาวุธนิวเคลียร์ การจัดตั้งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ การป้องกันมิให้ผู้ก่อการร้ายได้มาซึ่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง

หมวด H การควบคุมยาเสพติด ให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศว่าด้วยการควบคุมสารเสพติดระหว่างประเทศ โดยเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบองค์รวมและสมดุล

หมวด I การบริหารองค์การและอื่นๆ ให้ความสนใจกับประเด็นสุขภาพโลกและนโยบายต่างประเทศ โดยเน้นบทบาทนำของประเทศไทยด้านสาธารณสุข หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage - UHC) และให้ความสำคัญกับงานด้านบริหารองค์การ