In News

บังคับใช้1ต.ค.นี้!อัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วปท. สูงสุดอยู่ที่354 บาท/วัน



กรุงเทพฯ-วันที่ 13 กันยายน 2565 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี รับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 1 กันยายน 2565  โดยกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศอยู่ที่ 328 - 354 บาท/วัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565  

อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำปี 2565 ดังนี้  
-  354 บาท/วัน  จำนวน 3 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต และระยอง
-353 บาท/วัน   จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม  นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร      
-345 บาท/วัน  จำนวน 1 จังหวัด คือ  ฉะเชิงเทรา
-343 บาท/วัน  จำนวน 1 จังหวัด คือ  พระนครศรีอยุธยา
-340 บาท/วัน   จำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา ปราจีนบุรี พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี
-338 บาท/วัน  จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม
-335 บาท/วัน จำนวน 19 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง และอุตรดิตถ์
-332 บาท/วัน   จำนวน 22 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่  มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญและอุทัยธานี
-328 บาท/วัน    จำนวน 5  จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส น่าน ปัตตานี ยะลา และอุดรธานี                                        

ทั้งนี้   ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คณะกรรมการ ฯ ได้คำนึงถึง ดัชนีค่าครองชีพ  อัตราเงินเฟ้อ  มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ  ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณท์มวลรวมของประเทศ (GDP) และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม  นอกจากนี้  การพิจารณายังอยู่บนพื้นฐานความเสมอภาคและรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย  ซึ่งผลการพิจารณา เป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่ายแล้ว เพื่อ ให้ นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้   และลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข โดยเชื่อมั่นว่า จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ  หรือมีผลทำให้ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อ ปรับตัวสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อภาวะการครองชีพของประชาชนโดยทั่วไป